ศธ.ปรับรูปแบบการสอบใหม่ โอเน็ตพลัส สอบเพิ่ม 4 วิชา ให้ครบ 8 กลุ่มสาระ

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ว่า ที่ประชุมหารือ เรื่องการขับเคลื่อนการจัดสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการยกระดับผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมการเรียนรู้ สพฐ.จัดให้มีโครงการโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง โดยให้โรงเรียนสายวิทยาศาสตร์ เช่น กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาต่างๆ เข้าไปช่วยดูแล เป็นพี่เลี้ยงเพื่อยกระดับการศึกษาของให้ใกล้เคียงกัน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ PISA ที่จะมีการประเมินภาพรวมทั่วประเทศ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้

 

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดสอบโอเน็ตนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีการนำผลสอบไปใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร โดยอาจให้นำผลสอบโอเน็ตมาใช้ประกอบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564)   และเพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบาย Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง และเตรียมจัดให้มีระบบสอบเทียบ ดังนั้นจึงต้องมีการวัดผลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากจะนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการสอบเทียบ ก็จะต้องมีการปรับให้เป็น โอเน็ต+ หรือโอเน็ตพลัส  โดยเพิ่มการจัดสอบให้ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ หากใครที่ต้องการสอบเทียบและมีคะแนนโอเน็ต ใน 4 วิชาหลักอยู่แล้ว ก็มาสอบเพิ่มให้ครบ 8 กลุ่มสาระ

 

“สำหรับโอเน็ตพลัส จะมีการจัดสอบเพิ่ม จากเดิมสอบเพียง 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย  วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ หากใครต้องการนำคะแนนมาใช้ในการสอบเทียบและมีคะแนนโอเน็ต 4 วิชาเดิมอยู่แล้ว ก็มาสอบเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

 

ส่วนข้อสอบก็อาจจะปรับมาเน้นทักษะการคิด วิเคราะห์มากขึ้น คาดว่าจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2567 อย่างไรก็ตาม การจัดสอบโอเน็ตครั้งนี้ ยังคงให้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ เพียงแต่ส่งเสริมให้มีการนำผลโอเน็ตไปใช้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้บางโรงเรียนก็มีการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ประกอบการเข้าเรียนต่อชั้นม.1 และ ม.4 อยู่แล้ว ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การเพิ่มภาระให้นักเรียน แต่เป็นเรื่องการทดสอบ การฝึกทักษะ เพื่อให้รู้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อนำผลมาใช้ในการพัฒนาการศึกษา ไม่อยากให้คิดว่า เป็นการบังคับ แต่ต้องทำให้เด็กเห็นว่า การสอบดังกล่าวมีประโยชน์ ได้รู้ตัวเอง ไม่ใช่มาสอบเพื่อให้ได้คะแนนดี แล้วโรงเรียนจะได้ประโยชน์ ไม่อยากให้ไปตั้งสมมติฐานว่า ต้องบังคับ เด็กถึงอยากมาสอบ แต่เพื่อให้รู้จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง เพื่อพัฒนาการเรียนให้ดีขึ้น” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

 

พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปศึกษาว่าจะได้อย่างไร จึงจะสามารถพัฒนา ศึกษานิเทศก์ให้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา ขณะเดียวกันยังกำชับให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 โดยหน่วยงานต้นสังกัด จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด ให้มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน ขณะเดียวกันยังมีการตั้งสถานีแก้หนี้ และเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาให้ความรู้

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *