มจธ. เร่งพัฒนา “เทคโนโลยีสู่สังคมสำหรับทุกคน (Technology for Inclusive Society)” สุดล้ำ เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมเพื่อทุกคนในสังคม

จะดีแค่ไหนหากคนพิการสามารถทำงานเหมือนคนปกติ ตัวอยู่ที่บ้านแต่สามารถบังคับหุ่นยนต์ (Avatar) ที่เปรียบเสมือนร่างกายทำงานแทนได้จากระยะไกล คงเป็นเหมือนภาพฝันที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ปัจจุบันเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นจริงแล้วที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

รองศาสตราจารย์ ดร.สยาม เจริญเสียง รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มจธ. และอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) กล่าวว่าจากสถิติประชากรในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรกว่า 66 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีคนพิการอยู่ถึง 2,180,178 คน เป็นคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานอายุ 15 – 59 ปี จำนวน 857,117 คน แต่มีคนพิการเพียงร้อยละ 36 หรือ 311,259 คนเท่านั้นที่มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้

“อาชีพที่คนพิการทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านการเกษตร รับจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นงานที่ใช้ทักษะน้อยทำให้ได้รับผลตอบแทนน้อยตามไปด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนพิการสามารถทำงานที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมากขึ้น และทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับคนปกติให้มากที่สุด การเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเสริมศักยภาพและเพิ่มทางเลือกในการทำงานให้คนพิการจึงเป็นแนวทางสำคัญที่ FIBO และมจธ. มุ่งพัฒนาและนำมาใช้จริง” รศ. ดร.สยาม กล่าว

มจธ. มุ่งที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างสังคมสำหรับทุกคน (Technology for Inclusive Society) โดยจะนำเทคโนโลยีมาดูแลใน 2 ส่วนหลัก คือ การจัดการสภาพแวดล้อมให้ตอบรับกับบริบทการใช้ชีวิตของคนพิการไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่หรือการใช้ชีวิตประจำวัน โดย มจธ. ออกแบบสภาพแวดล้อมภายในให้เหมาะกับทุกคน (Universal Design) และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น เช่น การสร้างแขนกลเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แอปพลิเคชันตรวจจับรถโดยสารประจำทางสำหรับคนพิการทางสายตา เป็นต้น

ปัจจุบัน FIBO ได้จัดทำโครงการนวัตกรรมเพื่อคนพิการเพื่อการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality: VR)  ในชื่อโครงการ VR -Avatar Shopping @ FIBO – LX Metaverse Store ที่เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าอบรมการออกแบบโมเดล 3 มิติและสั่งพิมพ์ 3D ผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รวมถึงการอบรมการควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลผ่านระบบ Virtual Reality การอบรมนี้เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาทักษะออกแบบโมเดล 3 มิติและการควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลผ่านเทคโนโลยี Virtual Reality แก่คนพิการให้เหมาะสมกับบริบทของโลกยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการออกแบบโมเดล 3 มิติเป็นทักษะยุคใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดไม่ว่าจะในภาคอุตสาหกรรม งานศิลปะ ไปจนถึงงานในวงการบันเทิง ที่ยังขาดบุคลากรอีกมาก คนพิการที่ผ่านการอบรมไปแล้วสามารถออกแบบตัวละคร 3 มิติได้ด้วยตัวเอง และพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้”

ส่วนของการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยี VR  นั้น รศ. ดร.สยาม เล่าว่า ระบบนี้เป็นการใช้หุ่นยนต์เป็นเสมือนแขนขา มีระบบ VR เป็นเสมือนดวงตาให้กับคนพิการ ทำให้คนพิการสามารถควบคุมให้หุ่นยนต์ เลือกและหยิบจับสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อนำส่งไปยังผู้รับที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ โดยที่คนพิการบังคับหุ่นยนต์อยู่ที่บ้าน “ระบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และถือว่าเป็นการทดสอบลำดับต้น ๆ ของโลกโดยคนพิการด้วย โดยหากมองดูระบบนี้อาจคล้ายกับหุ่นยนต์ที่เราเห็นตามร้านอาหารหรือโรงพยาบาล แต่หุ่นยนต์จะไปได้เฉพาะเส้นทางที่มีการโปรแกรมหรือกำหนดไว้เท่านั้น แต่ระบบนี้จะใช้เทคโนโลยีระบบความจริงเสมือน/ความจริงผสมเพื่อควบคุมให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เพื่อหยิบจับสินค้าและเคลื่อนที่ไปได้อย่างอิสระด้วยการควบคุมระยะไกลจากคนพิการเอง”

โดยในงานครบรอบ 10 ปี โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มจธ. “เติม…เต็ม Empower” ได้มีการทดสอบระบบการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยี VR โดยให้คนพิการส่งผลิตภัณฑ์โมเดล 3 มิติที่คนพิการออกแบบและพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากอาคาร FIBO มาที่อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) ซึ่งมีระยะทางห่างกันกว่า 600 เมตร โดยหุ่นยนต์ที่ควบคุมจะใช้เส้นทางร่วมกับรถยนต์ทั่วไป ซึ่งขั้นตอนการทดสอบคนพิการจะสวมแว่น VR และถือจอยสติกที่ใช้ในการควบคุมอยู่ที่อาคาร LX ชั้น 3 เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แขนกล 2 แขนติดตั้งที่ชั้น 7 อาคาร FIBO เพื่อหยิบจับผลิตภัณฑ์โมเดล 3 มิติผ่านระบบ VR จากนั้นจะส่งต่อให้หุ่นยนต์ตัวที่ 2 ที่เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ที่มีแขนติดตั้งอยู่สำหรับขนของจากชั้น 7 ลงมาที่ชั้น 1 เพื่อส่งต่อให้หุ่นตัวที่ 3 ที่เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ที่มีลักษณะเป็นแบบรถส่งของ ที่ควบคุมโดยคนพิการจากชั้น 3 ตึก LX ที่จะวิ่งจากอาคาร FIBO มาส่งสินค้าให้กับผู้รับของที่ปลายทางอาคาร LX ซึ่งการทดสอบระบบผ่านพ้นไปได้เป็นอย่างดี

รศ. ดร.สยาม กล่าวเสริมว่า “ระบบต้นแบบนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้งานได้หลายแบบ ทั้ง ROBO Shopping ที่เมื่อมีผู้สั่งซื้อสินค้า คนพิการสามารถสั่งหุ่นยนต์ให้ไปหยิบสินค้าจากชั้นวางมาเพื่อจัดส่งให้ผู้ซื้อได้ ROBO Cafe ที่ให้คนพิการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในคาเฟ่ ซึ่งสามารถหยิบสินค้า เสิร์ฟสินค้า และพูดคุยกับลูกค้าผ่านหุ่นยนต์ได้ ซึ่งจะช่วยให้คนพิการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ด้วยตัวเอง เกิดสังคมใหม่แก่คนพิการขึ้น สุดท้ายคือ ROBO Society Service ที่คนพิการสามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำงานแทนในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น”

“สิ่งที่ FIBO และ มจธ.กำลังเดินหน้าอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ การเตรียมความพร้อมและเสริมทักษะให้คนพิการตั้งแต่ตอนนี้ จะช่วยให้คนพิการมีโอกาสการทำงานที่มากขึ้น เป็นงานที่ใช้ทักษะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้ค่าตอบแทนที่มากขึ้นด้วย ทำให้เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้คนพิการได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองออกมา ให้สังคมได้เห็นว่าคนพิการไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่มีศักยภาพเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป” รศ. ดร.สยามทิ้งท้าย

โครงการนวัตกรรมเพื่อคนพิการเพื่อการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality: VR)  ในชื่อโครงการ  VR -Avatar Shopping @ FIBO – LX Metaverse Store นอกจากได้นำจัดแสดงในงานครบรอบ 10 ปี โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มจธ. เติม…เต็ม Empower” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นประธานในงาน แล้วยังได้ถูกนำจัดแสดงใน “นิทรรศการผลงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อต้อนรับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในโอกาสตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว.

นอกจากนี้ ยังได้รับการติดต่อให้ร่วมนำผลงานจัดแสดงใน “งานคนพิการสากล 2566” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน และที่สำคัญทางฟีโบ้ มจธ. ยังประยุกต์ใช้ระบบหุ่นยนต์ Avatar ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้คนพิการที่อยู่ที่ มจธ. เข้ามาควบคุมหุ่นยนต์เคลื่อนที่ระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้ใช้ในการพูดคุย แนะนำประชาสัมพันธ์ผ่านวีดีโอคอล และแจกขนมเค้กที่ทำโดยคนพิการแก่แขกที่มาร่วมงาน Play Fun Fest: Coding ERA เมื่อวันที่ 12 – 14 มกราคม 2567 ณ ลาน Work & Play ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 9 อีกด้วย นับเป็นการประยุกต์ใช้งานจริงของระบบหุ่นยนต์ Avatar สำหรับคนพิการเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *