ผลสำรวจกสศ. พบ! 87.54% ของนักเรียนยากจน ไม่สามารถเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ในปีการศึกษา 2566

หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเกิดวิกฤติอย่างมากมายมหาศาล เห็นได้ชัดจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพต่าง ๆ แพงขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเมื่อค่าครองชีพสูง ก็จะทำให้ผู้ปกครองมีกำลังจ่ายลดลง และไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ ดังนั้นภาวะความยากจนจึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กบางคนต้องออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด

เมื่อความเป็นอยู่ขัดข้อง เรื่องของปากท้องก็ย่อมมาก่อนเรื่องอื่น ๆ

จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 สำรวจโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยนั้นมีนักเรียนจากครัวเรือนยากจนพิเศษเป็นจำนวนถึง 1,248,861 คน ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับปี 2563 ที่จำนวนยังไม่ถึงหลักล้าน คือ 994,428 คน

 

นักเรียนยากจนพิเศษ (Extremely Poor) เป็นนักเรียนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 3,000 บาทในแต่ละเดือน และมีปัญหาครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่

  1.  ครอบครัวมีผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน หรือคนเจ็บป่วย
  2. การอยู่อาศัยไม่ปลอดภัย
  3. ลักษณะที่อยู่อาศัย
  4. ที่ดินทำการเกษตร
  5. แหล่งน้ำดื่ม
  6. แหล่งไฟฟ้า
  7. ยานพาหนะ
  8. ของใช้ในครัวเรือน

 

กว่า 87.54% ของนักเรียนยากจนทั้งหมดหลุดจากระบบการศึกษา

และเมื่อย้อนกลับไปยังปี 2562 ทางกสศ. ได้สำรวจจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่เรียนจบจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งหมดจำนวน 168,807 คน พบว่ามีเยาวชนที่ไม่ได้เข้าเรียนต่อในระบบการศึกษา คิดเป็นจำนวน 20% (33,547 คน) และมีเยาวชนที่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปวช. กศน. หรือเทียบเท่า คิดเป็นจำนวน 80% (33,547 คน) และเมื่อสำรวจต่อมายังระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2566 พบว่าหลงเหลือเด็กที่เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS คิดเป็น 12.46% (21,921 คน) เพียงเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากช่วงรอยต่อของการศึกษาเป็นช่วงที่เวลาวิกฤติที่เด็กจะหลุดออกจากระบบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาซึ่งสำหรับนักเรียนยากจนพิเศษนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก กลายเป็นอุปสรรคในการเรียนต่อ โดยปัจจัยที่ทำให้ไม่ได้เข้ารับการศึกษาต่อในระดับมหาลัย มีดังนี้

 

  1. ต้นทุนการเข้ามหาวิทยาลัยคือหรือค่าใช้จ่าย TCAS ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของนักเรียนยากจนพิเศษ โดยคิดค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ คือ ค่าสอบวิชากลาง 600-1,000 บาท ค่าสมัครคัดเลือก 100-1,000 บาทต่อรอบ
  2. ค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัยคิดเป็น 12 เท่าของรายได้นักเรียนยากจนพิเศษ ทั้งธรรมเนียมการศึกษา และค่าใช้จ่ายแรกเข้า เช่น ค่าหอพัก ค่าประกัน ค่าเครื่องแบบนักศึกษา เป็นต้น
  3. ข้อจำกัดทางด้านระยะเวลาของการจ่ายแหล่งเงินทุนการศึกษา ซึ่งอาจจะไม่ทันกับช่วงเวลาที่ต้องใช้จ่าย บางกรณีนักศึกษาจะได้รับเงินทุนดังกล่าวหลังปิดภาคเรียนไปแล้ว 3-6 เดือน

 

ทำไมจึงควรเร่งแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ในปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2566 พบว่าไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศเป็นจำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวม มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน คิดเป็น 14% ของประชากรรวม

โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะจะขาดแคลนกำลังคนทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อกำลังการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประเทศเกิดการชะลอตัว ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งถ้าหากแก้ปัญหาได้ จะไม่เพียงแค่ช่วยในเรื่องการเติบโตของประเทศเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนกลุ่มนี้ได้ในระยะยาว ทำให้พวกเขามีหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและช่วยยุติวงจรยากจนข้ามรุ่นได้

ไม่ว่าลูกของใคร จะเกิดมาในครอบครัวยากดีมีจน ถ้าเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีศักยภาพทางการศึกษา เขาควรต้องได้เรียนจนสุดความสามารถ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องฐานะทางครอบครัว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

 

ขอบคุณที่มาจาก

https://www.eef.or.th/publication-28816/

https://thaipublica.org/2024/02/thailand-becomes-aged-society/

https://researchcafe.tsri.or.th/aging-society/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *