คาสิโอ จัดประกวดเขียนแผนการเรียนรู้แบบสืบเสาะควบคู่กับการใช้เครื่องคำนวณวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุกด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านการศึกษา

บริษัท คาสิโอ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดการประกวดเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะควบคู่กับการใช้เครื่องคำนวณวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ในการใช้เทคโนโลยีด้านการศึกษา พร้อมเผย 5 โรงเรียน เข้าชิง และประกาศผู้ได้รับรางวัล

คุณโยชิโนริ นาคาจิม่า  กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาสิโอ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดการประกวดเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะควบคู่กับการใช้เครื่องคำนวณวิทยาศาสตร์ ปีการศึกษา 2566 หรือ Lesson Plan Creation Contest 2023 เพื่อให้ครูที่อยู่ในโครงการโรงเรียนนำร่อง (DSP) ซึ่งเป็นโครงการที่ทางบริษัทคาสิโอฯ ร่วมกับ สพฐ. และ สพม. ได้นำเสนอการออกแบบการจัดการเรียนสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายควบคู่กับการใช้เครื่องคำนวณวิทยาศาสตร์ ในการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry-based learning) ทั้งเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ในการใช้เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) อีกด้วย

การประกวดเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะควบคู่กับการใช้เครื่องคำนวณวิทยาศาสตร์ นับว่า จัดขึ้นเป็นที่แรกของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือและให้เกียรติในการร่วมงานจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาทั้ง 4 เขต (สพม.กท 1 สพม.กท2 สพม.ขอนแก่น และ สพม.พังงา ภูเก็ต ระนอง) และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

“คาสิโอ ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมกับการประกวดฯครั้งนี้ และเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของไทย   และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของคาสิโอ ที่จัดการประกวดในลักษณะนี้  เราคาดหวังว่าคุณครูทุกท่านจะได้รับแรงบรรดาลใจในการออกแบบแผนจัดการเรียนรู้ ด้วยเครื่องคำนวณวิทยาศาสตร์ และได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการประกวดในครั้งนี้” คุณโยชิโนริ กล่าว

ด้านอาจารย์เอกสิทธิ์  ปิยะแสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  กล่าวว่า

“การแข่งขันครั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้     เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาเด็กไทยให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป คณิตศาสตร์ถือเป็นรากฐานสำคัญในการเรียนทุกวิชา และอุปกรณ์เป็นสื่อที่ช่วยในการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้คณิตศาสตร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ผศ. ดร. จิรดาวรรณ หันตุลา  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กรรมการตัดสินการแข่งขันในครั้งนี้ กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการก้าวข้ามจากการเรียนการสอนแบบเน้นเนื้อหา (content-based) เพื่อเตรียมความพร้อมสู่อนาคต สิ่งที่สำคัญก็คือ ชั้นเรียนต้องเปลี่ยนรูปแบบ  สอนแบบเดิมไม่ได้ โดยเฉพาะ คณิตศาสตร์เป็นฐานของทุกวิชา   เราต้องปรับเปลี่ยนรูปให้นักเรียนสนใจคณิตศาสตร์  รู้สึกยินดีที่ทางคาสิโอมีส่วนเสริมรูปแบบการสืบเสาะในชั้นเรียน และทุกท่านที่ช่วยผลักดันให้เกิดโครงการนี้”

ด้าน ดร. อลงกรณ์ ตั้งสงวนธรรม ผู้เชี่ยวชาญสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)   ซึ่งเป็นกรรมการตัดสินอีกท่าน กล่าวว่า  “ถือว่า เป็นก้าวแรกที่สำคัญ  การเรียนการสอนแบบสืบเสาะ และแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active learning) เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ให้มีสีสันมากขึ้น  และเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน”

สำหรับการประกวดฯครั้งนี้เริ่มปลายปี 2566 โดยมีครูคณิตศาสตร์ที่อยู่ในโครงการโรงเรียนนำร่อง (DSP) เข้าร่วมประกวด และมี 5 ทีมผ่านการคัดเลือกและเข้ารอบตัดสินในวันที่ 18 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ได้แก่ โรงเรียนไชยฉิมพลีวิทยาคม โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนศึกษานารี  โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต  และโรงเรียนม่วงหวานพัฒนศึกษา จังหวัดขอนแก่น

ทั้ง 5 ทีมได้นำเสนอแผนงานได้อย่างน่าสนใจ  โดยนำเสนอกระบวนการคิดคณิตศาสตร์ ให้ผสมผสานกับเรื่องใกล้ตัว ซึ่งเน้นการเรียนรู้แบบสืบเสาะ ทำให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อหรือยากอีกต่อไป  พร้อมทั้งมีการนำเครื่องคำนวณวิทยาสาตร์คาสิโอ รุ่น CLASSWIZ fx-991CW เป็นเครื่องมือในการประกอบการเรียนการสอน ทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

ผลการประกวดฯ  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนไชยฉิมพลีวิทยาคม กรุงเทพฯ นำเสนอในหัวข้อ การคูณเมทริกซ์ด้วยเมททริกซ์  รองอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพฯ นำเสนอในหัวข้อ ช่วยคิดหน่อยและยิงให้โดน (กฎของโคไซน์และไซน์)  รองอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนม่วงหวานพัฒนาศึกษา จังหวัดขอนแก่น นำเสนอในหัวข้อ ช้างเอราวัณสุดฉงน (หลักการนับเบื้องต้น)  และรางวัลชมเชยได้แก่ โรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพฯ นำเสนอในหัวข้อ เบาหวานเบาใจ (การแจกแจงทวินาม)  และโรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต นำเสนอในหัวข้อ ฟังชันกำลังสอง

          

คุณครูศศิธร หลาบนารินทร์  โรงเรียนไชยฉิมพลีวิทยาคม ตัวแทนทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ นำเสนอแผนในหัวข้อ การคูณเมทริกซ์ด้วยเมทริกซ์   ได้กล่าวว่า “ เราได้ออกแบบนำเรื่องที่ใกล้ตัวให้นักเรียนนำการแข่งขันกีฬาสีที่ได้เหรียญมาในแต่ละปีมาประเมินความสามารถ โดยใช้เครื่องคำนวณวิทยาศาสตร์มาช่วยหาคำตอบว่าถูกต้อง  ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนจากเรื่องที่ใกล้ตัว และเราคาดหวังว่าจะนำแนวทางนี้ไปขยายกับนักเรียนกลุ่มอื่นๆ  ต่อไป”

สำหรับ โรงเรียนทวีธาภิเศก รองอันดับ 1 นำเสนอในหัวข้อ ช่วยคิดหน่อยและยิงให้โดน (กฎของโคไซน์และไซน์) โดยคุณครูอนุชิต โฉมศรี ได้กล่าวว่า “เราใช้สถานการณ์สมมติและสถานการณ์จริง เรื่องการเปิดกีฬาสีเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้นักเรียนสนใจแล้วเข้ามาสืบเสาะโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และสานต่อเพื่อนำไปใช้ได้จริงและออกแบบแผนอื่นๆต่อไป”

สำหรับรองอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนม่วงหวานพัฒนาศึกษา จังหวัดขอนแก่น นำเสนอในหัวข้อเรื่อง ช้างเอราวัณสุดฉงน (หลักการนับเบื้องต้น)  โดยคุณครูพงศธร พันธ์บุปผา ผู้นำเสนอแผนงาน ได้กล่าวว่า “การบวกการคูณโดยใช้เครื่องคิดเลขและใช้ช้างเอราวัณที่ทางนักเรียนคุ้นเคยกันดี เป็นการสร้างความสนใจให้กับนักเรียน  นักเรียนมีความกระตื้อร้นในการเรียนรู้มากขึ้น ถือได้ว่าเป็นแนวทางใหม่การเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์”

คุณโยชิโนริ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายสูงสุดของคาสิโออยากได้มุมมองของคุณครู  และเห็นรูปแบบการเรียนการสอนที่นำไปประยุกต์ เพื่อใช้งานได้จริง และนำไปออกแบบเป็นของตัวเอง ไม่ใช่อยู่ในกรอบของคาสิโอ  ถ้าการจัดการประกวดในครั้งนี้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่คาดหวังได้ โดยเฉพาะกับครูและนักเรียน ทางบริษัทฯ ก็ยินดีจัดขึ้นอีกครั้งในปีการศึกษาถัดไป พร้อมทั้งอาจจะมีกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มเติมในอนาคต เพื่อตอบโจทย์กับการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาไทยต่อไป”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *