สมศ. กางโรดแมปการประเมินปี 67 รับนโยบาย รมว.ศธ. เน้น ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด

สมศ. กางโรดแมปโชว์ความพร้อมประเมินระยะ 5 ปี วางเป้าปี 67 กว่า 4,000 แห่ง พร้อมรับนโยบาย รมว.ศธ. ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โชว์ความพร้อมการประกันคุณภาพภายนอกที่จะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยเป็นไปตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการประเมินกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน โดยมีสถานศึกษาราวม 4,220 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าโรงเรียนจะนำผลการประเมินภายนอกไปปรับใช้เพื่อพัฒนาและยกระดับให้มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมุ่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ตลอดกระบวนการประเมิน

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สมศ. ยังคง ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) ใช้รูปแบบการประเมินที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทและเป้าหมายของสถานศึกษา เป็นการประเมินที่เน้นสะท้อนภาพความเป็นจริง พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้ประเมินเพื่อตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่ง สมศ. มั่นใจว่ากรอบแนวทางการประเมินในรอบนี้จะสอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา เนื่องจากได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาทั่วประเทศ และผ่านการทดลองนำร่องในสถานศึกษาทุกสังกัดทุกประเภทเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยัง เน้นลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกำหนดเกณฑ์การประกันคุณภาพภายนอกที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายใน มีการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาแบบ Hybrid และลดจำนวนวันในการประเมินตามบริบทของสถานศึกษา โดยใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการประเมินภายนอกจาก Paper based เป็น IT based เช่น ใช้ระบบ AQA Platform สนับสนุนการประเมิน พร้อมระบบจัดเก็บรายงานประเมินตนเอง (e-SAR) ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต้นสังกัด

นอกจากนี้ สมศ. ยังเพิ่มเติมประเด็นด้านการประเมินที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง ความปลอดภัยรวมถึง Child Protection ในสถานศึกษามากขึ้น อาทิ การดูแลความเสี่ยงด้านต่างๆ ในโรงเรียนที่อาจเกิดขึ้นทั้งอาคาร สถานที่ สภาพแวดล้อม การดูแลผู้เรียนในเรื่องของการถูกรังแกและถูกคุกคาม รวมทั้งการดูแลเรื่องอาหาร โภชนาการ โรคระบาด ตลอดจนความปลอดภัยจากภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานศึกษาที่กำลังเป็นปัญหาของสังคมในปัจจุบัน

สำหรับการประกันคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกทั่วประเทศกว่า 4,220 แห่ง โดยเน้นสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน ตามนโยบายที่พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ไว้กับ สมศ. เร่งดำเนินการประกันคุณภาพภายนอกรวมถึงสถานศึกษาที่ครบรอบการประเมินคุณภาพภายนอก 5 ปี ซึ่งขณะนี้ สมศ. ได้แจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดส่งรายชื่อโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน ที่พร้อมเข้ารับการประกันคุณภาพภายนอก มาให้ สมศ. ภายใน 30 เมษายน นี้ ”

นอกจากนี้ การประเมินคุณภาพภายนอกยังมีเป้าหมายที่จะช่วยสะท้อนสภาพที่เป็นจริงของสถานศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด และหากสถานศึกษาใดมีประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สมศ.จะเข้าไปประเมินเพื่อติดตามอีกครั้งในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปีเพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาเร่งปรับปรุงและทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ สมศ. ยังให้ความสำคัญกับประเด็นด้านคุณภาพผู้เรียน โดยเบื้องต้นได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ สพฐ. สช. อปท. กทม. สอศ. สกร. สป.อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สทศ. เพื่อการปรับวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกด้านคุณภาพของผู้เรียน โดยจะใช้หลักการพิจารณาเชิงระบบเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบความสอดคล้องระหว่างผลการประเมินคุณภาพภายนอกด้านคุณภาพของผู้เรียนกับผลการทดสอบระดับชาติ และพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์หาปัจจัยเชิงสาเหตุ (ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ด้านการจัดการเรียนการสอนของครู และด้านทรัพยากรการจัดการศึกษา) ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากการประเมินคุณภาพภายนอกเสร็จสิ้นต่อไป

ดร.นันทา กล่าวเสริมว่า ก่อนการประเมิน สมศ. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกให้กับสถานศึกษาที่จะเข้ารับการประเมิน หน่วยงานต้นสังกัด หน่วยกำกับการประเมินคุณภาพภายนอกและผู้ประเมินภายนอก ทั้งในรูปแบบ ONSITE และรูปแบบ ONLINE (FACEBOOK LIVE) นับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา

โดย รมว.ศธ. ได้ให้นโยบายการดำเนินงานกับ สมศ. ภายใต้แนวคิด “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” ซึ่งแต่ละคำมีความหมาย ดังนี้

  • ถูกต้อง คือ การให้ข้อมูลในการประเมินที่ถูกต้องตรงไปตรงมา ทำให้ได้ผลการประเมินที่ถูกต้อง สามารถปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาได้อย่างตรงจุด
  • รวดเร็ว คือ การประเมินอย่างนอกรวดเร็ว ลดจำนวนวันในการประเมินตามบริบทของสถานศึกษา โดยใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน
  • ประโยชน์ คือ การให้ข้อเสนอแนะที่ตรงตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำไปปรับปรุงสถานศึกษา
  • ประหยัด คือ การลดพิธีการที่ไม่จำเป็นและลดการใช้กระดาษ ใช้รูปแบบการประเมินแบบ IT based

พร้อมเน้นย้ำให้ สมศ. ทำการประเมินคุณภาพภายนอกเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะสถานศึกษาขนาดเล็กและสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โดยใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานศึกษา และผลักดันให้เกิดการนำผลประเมินไปพัฒนาได้ตรงตามบริบทสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง

 

ดร.นันทา ได้ให้คำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวรับการประเมินเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวสำหรับรับการประเมิน ให้ดำเนินงานของโรงเรียนไปตามปกติ เพราะสิ่งที่สมศ.จะเข้าไปตรวจดูคือการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาว่าเป็นอย่างไร มีความเป็นระบบ ต่อเนื่อง และน่าเชื่อถือหรือไม่ และมีการนำประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษากับประกันคุณภาพภายนอกนอกของ สมศ. ไปปรับใช้ในการทำงานและปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนอย่างไร

ประเด็นที่ 2 : อยากให้สถานศึกษาสะท้อนข้อมูลที่เป็นความจริงให้กับ สมศ. เพราะจะทำให้ผู้ประเมินสามารถเขียนข้อเสนอแนะได้ตรงกับบริบทของสถานศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้สถานศึกษาสามานำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 3 : ขอให้สถานศึกษางดการจัดพิธีต้อนรับการประเมินใด ๆ ทั้งสิ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองและไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

“ สมศ. ยึดหลักการประเมินแบบกัลยาณมิตร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสถานศึกษาว่าอย่างไร ผู้ประเมินภายนอกก็ว่าอย่างนั้น แต่บทบาทกัลยาณมิตรคือ การแนะนำสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาสถานศึกษาอย่างตรงไปตรงมาสะท้อนความเป็นจริง เพื่อให้สถานศึกษาได้รับทราบปัญหาและแนวทางการแก้ไขอย่างเหมาะสม ซึ่ง สมศ. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานศึกษาจะให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้ประเมินภายนอก เพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกสามารถให้ข้อเสนอแนะที่ถูกต้อง ตรงตามบริบทของสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้สถานศึกษานำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง

อีกทั้ง สมศ. ขอเน้นย้ำว่า ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาของผู้ประเมินภายนอกซึ่งจะเริ่มในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไปนั้น สถานศึกษาไม่ต้องจัดการต้อนรับใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระและก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง ซึ่งสอดรับกับนโยบาย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด ” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *