EZ Guide! เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงาน ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

รู้หรือไม่ว่ากว่าที่แรงงานอย่างเรา ๆ จะมีกฎหมายคุ้มครองเหมือนอย่างทุกวันนี้ ในอดีตต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

เนื่องในโอกาสที่ใกล้จะถึงวันแรงงานแห่งชาติ EZ Guide! จะพาทุกคนมาที่ “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย” ที่ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานผ่านเรื่องเล่าและวัตถุจัดแสดงต่าง ให้พวกเราได้เรียนรู้ โดยที่นี่ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 และปัจจุบันได้เปิดให้เข้าชมมานานกว่า 31 ปีแล้ว

ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีส่วนจัดแสดงทั้งหมด 7 ห้อง โดยจะเล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลาตั้งแต่สมัยที่ไทยยังคงใช้ระบบไพร่-ทาส ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนมาถึงแรงงานในยุคปัจจุบันที่มีกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้นั้นก็ต้องผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชนเลยทีเดียว

ห้องที่ 1: แรงงานบังคับไพร่ทาส (Corvee and Slave Labour)

ในสมัยก่อนแรงงานในสังคมไทยนั้นเรียกว่า “ไพร่-ทาส” โดยเป็นแรงงานที่คอยผลิตปัจจัยต่าง ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงสังคมศักดินา แต่หลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398 และได้เปิดรับทุนอุตสาหกรรมตะวันตก จึงทำให้ระบบไพร่-ทาสเสื่อมลงไปในที่สุด

ห้องนี้จะจัดแสดงอุปกรณ์ที่แรงงานไพร่-ทาสใช้ทำการเกษตรให้กับเจ้านาย เช่น เคียว คราด กระด้ง คันไถ

ห้องที่ 2: กุลีจีน (Chinese Coolies)

เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมศักดินาเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยม แต่ในขณะนั้นแรงงานไทยยังไม่มีอิสระพอที่จะทำงานรับจ้าง ดังนั้นแรงงานจีนจึงถือเป็นคนงานรับจ้างรุ่นบุกเบิก และยังมีการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “อั้งยี่” เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของแรงงานจีน

ห้องนี้จะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่แรงงานจีนนำติดตัวมาจากประเทศบ้านเกิด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ “รถลาก” ซึ่งถือเป็นยานพาหนะหลักของคนกรุงในสมัยนั้น

ห้องที่ 3: แรงงานกับการปฏิรูปประเทศ (Labour and The Reforms)

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5)  เป็นยุคแห่งการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลาย ๆ ด้าน และได้ยกเลิกระบบไพร่ทาสไปในที่สุด ในยุคนั้นจึงมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมายทุ่มเททำงานเพื่อความสำเร็จของโครงการที่นำความสะดวกสบายกินดีอยู่ดีมาสู่ประชาชน

ห้องนี้จะจัดแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมไทย มีการจำลองรถไฟในสมัยแรก ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ขนสัมภาระต่าง ๆ รวมถึงขนแรงงานด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีเอกสารค้าทาสในสมัยก่อนยกเลิกทาสอีกด้วย

ห้องที่ 4: แรงงานกับการเปลี่ยนแปลง 2475 (Labour and the 1932 Change in Governmentหเกิดหลังจากวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้สิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างได้รับการยอมรับมากขึ้น กรรมกรจึงเริ่มมีปากมีเสียง และสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามได้รับการจดทะเบียนเป็นแห่งแรก

ห้องนี้จะจัดแสดงสิ่งของและเอกสารในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้แก่ หมุดคณะราษฎรจำลอง หนังสือพิมพ์ในยุคนั้น และได้รวบรวมรายชื่อปัญญาชนที่ช่วยเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานผ่านการเขียน ได้แก่ เทียนวรรณ, พระยาสุริยานุวัตร, นริทร์ (ภาษิต), กุหลาบ (สายประดิษฐ์)

ห้องที่ 5: จากสงครามโลกสู่สงครามเย็น (From World War to the cold War)

เมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกมาไทย บังคับให้รัฐบาลเข้าสู่สงครามและเป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร อิทธิพลของรัฐบาลเผด็จการทหารในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้สิทธิเสรีภาพของคนงานถูกริดรอนอย่างหนัก

ห้องนี้จะจัดแสดงสิ่งของจำลองในช่วงสงครามโลก-สงครามเย็น ซึ่งก็จะมีทั้งเครื่องบิน เครื่องมือสื่อสาร และเอกสาร ข่าวต่าง ๆ

ห้องที่ 6: ศิลปวัฒนธรรมกรรมกร จิตร ภูมิศักดิ์ (Jt. Phumisak Worker Cultural Room)

จิตร ภูมิศักดิ์เป็นปัญญาชนนักคิดคนสำคัญของสังคมไทย ผู้นำเสนอแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของปัญญาชนหนุ่มสาวที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ห้องนี้จะจัดแสดงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่ใช้ขับกล่อมเพลงเพื่อสนับสนุนชนชั้นกรรมาชีพ และยังได้รวบรวมรายชื่อวงดนตรีที่ยืนหยัดข้างชนชั้นดังกล่าว ได้แก่ วงคนงาน วงภราดร วงเตาหลอม วงฝุ่นฝ้าย วงสหภาพ

ห้องที่ 7: จาก 14 ตุลาฯ ถึง วิกฤติเศรษฐกิจ (From October Up Rising to the Economic Crisis)

เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เริ่มจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งขบวนการนักศึกษาและประชาชน ลุกขึ้นต่อสู้เผด็จการจนเกิดประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย มีเรื่องราวของแรงงานที่เรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน ประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน และการเผชิญความเดือดร้อนของแรงงาน ทั้งจากอำนาจเผด็จการ และวิกฤตเศรษฐกิจ จนถึงเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ห้องนี้จะจัดแสดงเหตุการณ์การต่อสู้ของแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิและกฎหมายต่าง ๆ และยังมีสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งสำคัญ เช่น ซากตุ๊กตาจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ที่คร่าชีวิตคนงานไปกว่า 188 ศพ

 

วันเวลาเปิดทำการ

วันพุธอาทิตย์ เวลา 10:00-16:30 .

 

ค่าเข้าชม

ทุกคนสามารถเข้าชมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

 

สถานที่ตั้ง

503/20 ถ.มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *