สสวท. เผยผลเวทีนวัตกรรมอนุรักษ์น้ำสู่ความยั่งยืน Thailand Junior Water Prize 2024 นักเรียนประชันศักยภาพเฉิดฉาย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยคว้าชนะเลิศ

รองศาสตราจารย์ ดร. ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าตามที่ได้จัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ปี 2567 (Thailand Junior Water Prize 2024) โดยมีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุระหว่าง 15–19 ปี ส่งผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ ภายใต้แนวคิดนวัตกรรมการอนุรักษ์น้ำสู่ความยั่งยืน (Water Conservation Innovation toward Sustainability) ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับ Bridging Borders: Water for a peaceful and sustainable future เข้าร่วมประกวด โดยผู้ชนะเลิศจะได้เข้าร่วมการประกวดระดับโลก Stockholm Junior Water Prize 2024 ณ ราชอาณาจักรสวีเดน  ผลปราฏว่ารางวัลชนะเลิศ คือ งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาวัสดุดูดซับจากเหง้า มันสำปะหลังเพื่อการบำบัดน้ำเสียที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ จากฝีมือของนายอธิบดี การะเกด โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางจันทร์จิรา ชัยอินทรีอาจ เป็นครูที่ปรึกษา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ งานวิจัยเรื่อง นวัตกรรมอนุรักษ์น้ำในการตอนกิ่งและดูแลกิ่งพันธุ์ระยะแรกปลูก จากฝีมือของ นายซายนน เลิน และนายเอกฉัตร ตันเฮง โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนางสาวสโรชินี พงศ์สุปาณี เป็นครูที่ปรึกษา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 งานวิจัยเรื่องการศึกษาปริมาณน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชในแต่ละช่วงอายุ โดยใช้ Machine learning เพื่อความคุ้มค่าและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรน้ำ จากฝีมือของนายอิสมาแอล นากสง่า และ นายริฟฮัน อาแด โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา โดยมี นางฮาร์ตีนี มะเซ็ง เป็นครูที่ปรึกษา

รางวัลชมเชย ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง ระบบพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงเปลือกโลกจากกระบวนการธรณีสัณฐานแม่น้ำเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในอนาคตอย่างยั่งยืน จากฝีมือของ นายพีรธาดา สิทธิเกรียงไกร และ นายกวีการ เคนหล้า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นครูที่ปรึกษา   

รางวัลชมเชย งานวิจัยเรื่องนวัตกรรมเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพแบบใช้แสงจากวัสดุรีไซเคิลและการตรึงเซลล์สาหร่ายขนาดเล็กเพื่อบำบัดน้ำทิ้ง จากฝีมือของนายตะวัน เกียรติเจริญวัฒน์ และ นายธงทอง กุลศรีสุวรรณ โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางสุทธิลักษณ์ แสงสุวรรณ เป็นครูที่ปรึกษา

รางวัลชมเชย งานวิจัยเรื่อง ZnO/CuO nanocomposite: A Synergistic Photocatalyst for Eco-Friendly Removal of Methylene Blue Under Visible Light จากฝีมือของนายชูวิน พนาวัลย์สมบัติ และนายอธิษฐ์ อัมระปาล โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ กรุงเทพ โดยมี Mr.Michael McCarthy เป็นครูที่ปรึกษา

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://globethailand.ipst.ac.th และ https://www.facebook.com/ipst.thai

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *