เอ็นไอเอ อัปเกรดสถานศึกษามัธยม-อุดมฯ สู่ ‘ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่’ หนุนปั้นครู 1,000 คนสู่โค้ช พร้อมเทรนเยาวชนสู่นวัตกร 30,000 ราย ใช้ “STEAM4INNOVATOR” สู่กระบวนการสร้างความรู้ใหม่ในคลาสเรียน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.หนุนปั้นนวัตกรระดับเยาวชนจากกลุ่มสถานศึกษาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ผ่าน “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่น STEAM4INNOVATOR ใหม่ STEAM4INNOVATOR CENTER” ซึ่งได้ร่วมมือกับเครือข่ายสถานศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาส่งเสริมการใช้กระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR ในห้องเรียน พัฒนาครูและอาจารย์ให้เป็น “ผู้สร้างนวัตกร” และขยายผลห้องเรียนนวัตกรรมให้กระจายไปยังสถานศึกษาเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อเป็นพื้นที่ให้กับเยาวชนในการพัฒนาทักษะนวัตกรและผลงานนวัตกรรม มุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต โดยในปีนี้มุ่งเน้น 2 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งของศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ผ่านแกนหลัก 4C ด้วยองค์ประกอบ ABC (A-Academic การทำงานร่วมกันเชิงวิชาการ B-Badge การพัฒนาเกณฑ์ประเมินศักยภาพศูนย์ และ C-Culture การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบนวัตกร) และการขยายเครือข่ายโค้ชผู้สร้างนวัตกร 1,000 คน ผลักดันให้นักเรียน/นักศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงได้กว่า 30,000 คน

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนา “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ STEAM4INNOVATOR CENTER” ร่วมกับ 18 สถานศึกษา เพื่อสร้างห้องเรียนนวัตกรรมผ่านการใช้องค์ความรู้ STEAM4INNOVATOR ที่กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐาน STEAM อันได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ศิลปศาสตร์ (Arts) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) พร้อมแนวคิดทางด้านธุรกิจที่เป็นระบบ โดยปีนี้มุ่งเน้น 2 เป้าหมายหลัก คือ 1. การสร้างความเข้มแข็งของศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ บนแกนหลัก 4C ได้แก่ Content ติดเครื่องมือเนื้อหาให้ครูและอาจารย์สามารถใช้กระบวนการและเครื่องมือจาก STEAM4INNOVATOR ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเข้มข้น Coaching พัฒนาครูและอาจารย์ให้สามารถเป็นโค้ชนวัตกรให้กับนักเรียนได้อย่างเชี่ยวชาญ Connection ส่งเสริมให้คุณครูสามารถหาเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาผลงานนวัตกรรมของนักเรียน และ Cluster สนับสนุนให้โรงเรียนจัดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดและแรงบันดาลใจของนวัตกรเยาวชน

พร้อมทั้งเสริมความเข้มแข็งของ 4C ด้วยองค์ประกอบ ABC ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ได้แก่ A-Academic เน้นการทำงานร่วมกันในเชิงวิชาการทั้งในรูปแบบการพัฒนาเนื้อหาการสอน เครื่องมือประกอบการสอน และบทความทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการหยิบใช้ในวงกว้างขององค์กรทั้งในและนอกเครือข่าย B-Badge พัฒนาเกณฑ์ประเมินศักยภาพศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ตามแกนหลัก 4C เพื่อรับรองความเชี่ยวชาญของแต่ละศูนย์ เกิดเป็นโมเดลการพัฒนาห้องเรียนนวัตกร และ C-Culture สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีรูปแบบการเรียนรู้ที่กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาในสังคม และอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือ 2. การเชื่อมโยงและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายผู้สร้างนวัตกร สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาต่าง ๆ โดยคาดหวังให้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายผู้สร้างนวัตกรและศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ในสถานศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าสร้างโค้ชผู้สร้างนวัตกรกว่า 1,000 คน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ ได้มากกว่า 30,000 คน

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้พัฒนากระบวนการคิดแบบนวัตกร นั่นคือ การเข้าใจปัญหา การคิดริเริ่มสร้างสรรค์การวางแผนการทำงาน และการลงมือทำ อีกทั้งยังได้พัฒนาทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ฐานสมรรถนะของผู้เรียนทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา โดยในระดับมัธยมศึกษา จะเน้นเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เสนอไอเดียนวัตกรรมเพื่อเก็บเป็นผลงานต่อยอดเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคต และในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จะเน้นพัฒนาผลงานนวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และผลักดันสู่การสร้างธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมต่อไป

ดร. กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา NIA ได้สร้างโค้ชผู้สร้างนวัตกรไปแล้วกว่า 552 คน และเข้าถึงนักเรียน/นักศึกษากว่า 10,150 คน ผ่านความร่วมมือกับ 18 สถานศึกษา ประกอบไปด้วย สถาบันอุดมศึกษา 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการนำองค์ความรู้ STEAM4INNOVATOR เข้าไปประยุกต์ใช้สอนรายวิชาหลัก ในคณะบริหารธุรกิจ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และศิลปศาสตร์ ในการออกแบบนวัตกรรม รวมทั้งในรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับนักศึกษา เพื่อให้เกิดทักษะนวัตกร โดยมีเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต ในส่วนของอาชีวศึกษา ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นำกระบวนการ STEAM4INNOVATOR เข้าไปเจาะกลุ่มศูนย์บ่มเพาะ เสริมองค์ความรู้และถูกกระจายให้กับนักเรียนในโครงการ RRR Awards ได้พัฒนาผลงานที่มีความเป็นนวัตกรรมและครบเครื่องเรื่องธุรกิจมากขึ้น

อีกทั้ง ยังได้ร่วมมือกับโรงเรียนนวัตกรรม 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคมโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยทักษิณ (โครงการ วมว. – ม.ทักษิณ) โรงเรียนชลประทานวิทยา โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนแสงทองวิทยา และโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี  ในการนำองค์ความรู้ STEAM4INNOVATOR เข้าไปประยุกต์สอนใน 3 รูปแบบรายวิชา ได้แก่ วิชาหลักตาม 8 รายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มโครงงาน และกิจกรรมเพิ่มพูนประสบการณ์หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมีเป้าหมายหลักคือ การพัฒนาเยาวชนให้เกิดทักษะกระบวนการคิดแบบนวัตกร นอกจากนี้ NIA ยังมีแผนจัดตั้งสถาบัน Active Innopreneur Institute ให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญเข้าด้วยกัน โดยมี STEAM4INNOVATOR เป็น 1 ในกรอบแนวคิดการสร้างนวัตกรรมสำหรับเยาวชน พร้อมด้วยเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมายที่จะสนับสนุนการเดินทางของนวัตกรเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปสู่ชาตินวัตกรรม

สำหรับผู้ที่สนใจและสถาบันการศึกษาที่ต้องการร่วมเดินทางบนเส้นทางนวัตกรรมไปด้วยกันสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://steam4i.nia.or.th และ Facebook page : STEAM4INNOVATOR

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *