“สพฐ.” จับมือ “มูลนิธิยุวพัฒน์” ขยายผลกลไก“ร้อยพลังการศึกษา” ลดเหลื่อมล้ำช่วยเด็กไทยรอบด้าน

ปรากฏการณ์ใหม่วงการศึกษาไทย ! เมื่อกลไกภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) กับกลไกภาคประชาชนโดยมูลนิธิยุวพัฒน์เพื่อขยายผล 9 เครื่องมือภายใต้ “โครงการร้อยพลังการศึกษา” นำร่องปีแรกกับกว่า 500 โรงเรียน และจะขยายผลต่อเนื่องต่อไป เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการร้อยพลังการศึกษา เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนรอบด้าน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงนามโดยนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กับ มูลนิธิยุวพัฒน์  ลงนามโดยนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ มูลนิธิยุวพัฒน์ อาคารพรีเมียร์ คอร์เปอเรท ปาร์ค กรุงเทพฯ

เกี่ยวกับที่มาของบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ มูลนิธิยุวพัฒน์ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชนมานานกว่า 30 ปี ได้ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงได้สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนทั่วไป มาอย่างต่อเนื่อง ในการระดมทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษา กระทั่งพร้อมจะขยายผลสู่กลไกภาครัฐ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว  จากการร่วมกันสนับสนุน ติดตามผล ตลอดจนการกำกับดูแลร่วมกันให้ตรงตามเป้าหมาย และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนผู้บริจาคทรัพยากรด้านต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังได้จากความร่วมมือของสองภาคส่วนที่เป็นคู่สัญญาลงนามครั้งนี้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระบุถึงเป้าหมายและขอบเขตความร่วมมือว่า เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในประเทศได้รับการสนับสนุนรอบด้าน โดยแต่ละด้านจะมีเครื่องมือภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษาเข้าไปดำเนินงานในโรงเรียนเป้าหมายสังกัดสพฐ.  ประกอบด้วย 1.ด้านโอกาสเข้าถึงการศึกษา ได้แก่ โครงการทุนการศึกษาและการประคับประครอง (มูลนิธิยุวพัฒน์)   2.ด้านคุณภาพการศึกษา ได้แก่ โครงการสื่อดิจิทัลวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (เลิร์น เอ็ดดูเคชัน) ,โครงการสื่อดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ (วินเนอร์ อิงลิช) โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง (ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์) และโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย (ICAP) 3.ด้านทักษะชีวิตและคุณธรรม ได้แก่ โครงการแนะแนวรุ่นใหม่ (a-chieve)  โครงการดูแลนักเรียนผ่านการบูรณาการด้านจิตวิทยาสังคม (สพบ.และเครือข่าย) และโครงการโรงเรียนคุณธรรม (สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์)  4.ด้านภาวะโภชนาการ ได้แก่ โครงการฟู้ดฟอร์กู๊ด (มูลนิธิยุวพัฒน์)

สำหรับเครื่องมือทั้งหมดนี้ได้ผ่านการทดลองใช้และดำเนินการจริงในโรงเรียนเครือข่ายของมูลนิธิยุวพัฒน์มาก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมากกว่า 1,000 โรงเรียน และมูลนิธิฯ ดำเนินงานด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชนมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี พิสูจน์ได้ถึงประสิทธิผล โดยข้อมูล ณ ปี 2566 พบว่า มีจำนวนนักเรียนกว่า 300,000 คน ที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ริเริ่มและร่วมดำเนินการโดยหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ  จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการขยายผลสู่โรงเรียนต่างๆ ในสังกัดสพฐ..ให้สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนจำนวนมากขึ้นไปอีก ขนานกันไปประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเครื่องมือต่างๆเหล่านี้ได้มากขึ้นเช่นกัน

ที่ผ่านมา เครื่องมือทั้งหมดนี้ได้รับทุนสนับสนุนดำเนินงานจากหลากหลายที่มา โดยเฉพาะจากภาคประชาชน ดังนั้น มูลนิธิยุวพัฒน์ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนจึงมีมาตรฐานความโปร่งใสในการดำเนินงานเช่นเดียวกับบริษัทมหาชน สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิยุวพัฒน์ https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/home/ และโครงการร้อยพลังการศึกษาได้ที่  https://www.tcfe.or.th/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *