รวมใจเป็นหนึ่งเดียว สถาปนา “72 ปี วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ” วิทยาลัยเทคนิคแห่งแรกของประเทศไทย

รวมใจเป็นหนึ่งเดียว สถาปนา “72 ปี วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ” วิทยาลัยเทคนิคแห่งแรกของประเทศไทย ยกระดับความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ รากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศชาติ

ครั้งแรกของการรวมตัวศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นปัจจุบัน มากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 3,000 คนที่เป็นผู้นำองค์กรชั้นนำทั้งภาคราชการ และภาคเอกชน พร้อมรวมใจเป็นหนึ่งเดียว จัดงานสถาปนา 72 ปี วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ จัดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567  ณ สนามกีฬากลางราชมงคลกรุงเทพ  ภายในงานประกอบด้วย พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถาบัน มีการแสดงคอนเสิร์ตจาก 6 ศิลปิน พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, หินเหล็กไฟ, โลโซ, มาลีฮวนน่า,วงชาตรี และลูกทุ่งก่อสร้าง 

วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้เพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาให้นักศึกษาปัจจุบัน การสร้างหอประวัติศาสตร์วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และการสร้างวัตถุมงคลเหรียญพระพุทธสิหิงค์ พระวิษณุกรรม โดยได้รับความเมตตาจากหลวงปู่มหาศิลา ศิริจันโท ประทานยันต์หลังเหรียญ และจารอักขระเลขยันต์ลงแผ่นโลหะ เพื่อเป็นชนวนมวลสาร อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ(เดิม)  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ(ปัจจุบัน) ทั้งนี้วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เป็นวิทยาลัยเทคนิคแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ เป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศชาติ รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2495 กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้มีแนวคิดในการส่งเสริมการอาชีวศึกษาของชาติตามนโยบายของรัฐบาลควรจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคในจังหวัดพระนครสักแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝนอบรมวิชาอาชีพอย่างกว้างขวางและขยายมาตรฐานการศึกษาให้สูงกว่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ซึ่งรัฐสภาได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคขึ้นในจังหวัดพระนคร โดยมี มร.เอิล ฮัตจินสัน หัวหน้าฝ่ายศึกษาแห่งสำนักงานส่งเสริมความมั่นคงร่วมกัน และ ดร.ราลฟ์ ไอแมน ผู้เชี่ยวชาญการจัดการอาชีวศึกษาแห่งสำนักงานได้ร่วมวางแนวทางการศึกษาสำหรับวิทยาลัยเทคนิค

ประวัติโดยย่อ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ (ชื่อเดิม) ตั้งอยู่ เลขที่ 2 ถนนนางลิ้นจี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2495 ในนาม “วิทยาลัยเทคนิค” จากนโยบายของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ที่จะส่งเสริมและปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาทางด้านการอาชีวศึกษาของชาติให้มีระดับสูงขึ้น โดย  จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ทำความตกลงกับองค์การส่งเสริมความมั่นคงร่วมกัน (Mutual Security Agency ; MSA) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี มร.ออสติน เฟลเกล เป็นผู้อำนวยการ

มีสีประจำ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ :  เหลือง – น้ำเงิน ในปีแรกเปิดการเรียนการสอน 4 แผนกคือ

  1. แผนกวิทยุ
  2. แผนกช่างก่อสร้าง
  3. แผนกพณิชยการ
  4. แผนกฝึกหัดครู

ปี พ.ศ. 2499 เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ” เปิดการเรียนการสอนเพิ่มรวมเป็น 14 แผนกคือ

  1. แผนกช่างวิทยุ
  2. แผนกช่างก่อสร้าง
  3. แผนกพณิชยการส่วนการบัญชี
  4. แผนกพณิชยการส่วนวิชาเลขานุการ
  5. แผนกช่างเครื่องยนต์
  6. แผนกช่างโลหะ
  7. แผนกช่างไฟฟ้า
  8. แผนกช่างถ่ายรูป
  9. แผนกช่างพิมพ์
  10. แผนกช่างไม้
  11. แผนกเคหศาสตร์
  12. แผนกช่างตัดเสื้อ
  13. แผนกช่างรังวัด
  14. แผนกฝึกหัดครู

ปี พ.ศ. 2518 ย้ายมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ

วันที่ 15 กันยายน 2531 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โปรด เกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ แก่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” แปลว่า“ สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมงคลแห่งพระราชา” หมายความว่า ชาวราชมงคลทุกคนตั้งแต่คณาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทรงถือว่าเป็นมงคลแห่งพระองค์ท่าน จึงเปลี่ยนวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ เป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ”

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประกาศใช้ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ , วิทยาเขตบพิตรพิมุข มหาเมฆ และวิทยาเขตพระนครใต้ รวมกันจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นสถาบันอุดมศึกษาสายอาชีพเปิดสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีรากฐานมาจากการหลอมรวมตัวกันของสถาบันการศึกษาสายอาชีพที่มีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน 3 แห่งคือ

 

แห่งที่แรกคือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯหรือวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ มีชื่อเสียงในความเชี่ยวชาญทางด้านช่างอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยว การโรงแรม อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องเรือนวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์ เคมี ช่างสำรวจ ช่างภาพซึ่งมีประวัติศาสตร์มานานกว่า 72 ปี

แห่งที่ 2 คือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพระนครใต้หรือการช่างสตรีพระนครใต้ มีชื่อเสียงในความเชี่ยวชาญด้านงานช่างสตรี อาทิ งานตัดเย็บเสื้อผ้าและออกแบบแฟชั่น งานประดิษฐ์และจัดดอกไม้ อาหารอาหารแปรรูป วิทยาศาสตร์การอาหาร ซึ่งมีประวัติศาสตร์มานานกว่า 93 ปี

และแห่งที่ 3 คือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตบพิตรพิมุข มหาเมฆ มีชื่อเสียงในความเชี่ยวชาญในด้านบริหารธุรกิจการตลาดและภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ซึ่งมีประวัติศาสตร์มานานกว่า 42 ปี

มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท  7 คณะและ 1 วิทยาลัย ประกอบด้วย

  • คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
  • คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
  • คณะบริหารธุรกิจ
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • คณะศิลปศาสตร์
  • คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ
  • วิทยาลัยนานาชาติ

มีองค์พ่อพระวิษณุกรรม ทั้ง 3 องค์

  1. พระวิษณุกรรมประจำวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ข้างตึกอำนวยการด้านขวา
  2. พระวิษณุกรรมแผนกช่างเคหภัณฑ์ ตั้งอยู่ ชั้น 2 บริเวณโรงฝึกปฏิบัติการอาคาร 15/5 หรืออาคารสาขาเทคโนโลยีเครื่องเรือนและการออกแบบ
  3. พระวิษณุกรรมแผนกช่างก่อสร้าง ตั้งอยู่ ลานกิจกรรม ด้านในอาคาร 19 หรืออาคารสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา

และในปีนี้ พุทธศักราช 2567  ครบรอบ 72 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ หลอมรวม ร่วมศรัทธา เทคนิคกล้าแกร่ง เกรียงไกร ผ่านปี ปีผ่านไป มีหรือใจ ใครผ่านเลย

ใคร่ขอเชิญร่วมงานสถาปนา “72 ปี วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ” วิทยาลัยเทคนิคแห่งแรกของประเทศไทย  “รวมใจเป็นหนึ่งเดียว”  ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 ณ สนามกีฬากลางราชมงคลกรุงเทพ  ถ.นางลิ้นจี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ ภายในงานประกอบด้วย พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถาบัน และมีการแสดงคอนเสิร์ตจาก 6 ศิลปิน พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, หินเหล็กไฟ, โลโซ, มาลีฮวนน่า,วงชาตรี และลูกทุ่งก่อสร้าง

รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบเป็นทุนการศึกษาให้นักศึกษาปัจจุบัน และสร้างหอประวัติศาสตร์วิทยาลัย มีการจัดนิทรรศการวิถีแห่งวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ จากอดีตถึงปัจจุบัน และการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิชาชีพ เพื่อร่วมยกระดับความเป็นเลิศทางวิชาชีพขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *