มทร.ธัญบุรี ‘บริการความรู้’ เปิดค่ายอิคคิวซัง สร้างนวัตกรรมด้วยสมองกล

คณะวิทยาศาสตร์ฯ มทร.ธัญบุรี ‘บริการความรู้’
เปิดค่ายอิคคิวซัง สร้างนวัตกรรมด้วยสมองกล

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ สวทช. จัดโครงการพัฒนาทักษะอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ค่ายอิคคิวซัง 1 : นวัตกรน้อยสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยสมองกลฝังตัว” ประจำปีการศึกษา 2567 ณ มทร.ธัญบุรี ซึ่งมีผู้ร่วมทั้งหมดกว่า 150 คน


อาจารย์อลงกต สุวรรณมณี รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน รักษาราชการแทนคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ที่ถือเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีแก่ผู้เข้าร่วม และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำหรับค่ายอิคคิวซัง1 : นวัตกรน้อยสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยสมองกลฝังตัว ที่จัดขึ้นครั้งนี้ มุ่งเน้นใน 5 ด้านสำคัญคือ (1) เสริมสร้างความรู้พื้นฐานการเขียนโปรแกรมและการใช้งานสมองกลฝังตัวกับเซนเซอร์ (2) พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ความรู้แก้ปัญหา (3) ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ (4) กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวเทคโนโลยี Internet of Thing การพิมพ์สามมิติ รวมถึง AI และ (5) เพิ่มทักษะการทำโครงงานและการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.จุฬาลักษณ์ วัฒนานนท์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ในฐานะคณะวิทยากรหลักและคณะทำงานในโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่ายอิคคิวซัง1 ได้จัดกิจกรรมขึ้นทั้งหมด 3 วันด้วยกัน และมีผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมจำนวน 158 คน ประกอบด้วยพระครูและสามเณรจากโรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน 43 รูป ครูและนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 34 คน เยาวชนและครูผู้ควบคุมจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจำนวน 81 คน

นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี เข้าร่วมกว่า 15 คนในฐานะผู้ช่วยวิทยากรร่วมด้วย และครั้งนี้ได้ดีไซน์รูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการบรรยายปูพื้นความรู้ กิจกรรมกลุ่มฐานปฏิบัติการ Coding กิจกรรมการสร้างเกมส์ และที่สำคัญยังมีการพัฒนาโครงการนวัตกรรมขนาดเล็ก การคิดเชิงออกแบบเพื่อทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์ ผ่านการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning :PBL) ร่วมกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับพัฒนานวัตกรรมที่ผสมผสานการคิดสร้างสรรค์ (Design Thinking) ในภาพรวมที่เกิดขึ้นผู้เข้าร่วมให้ความสนใจอย่างดีมาก สนุก มีความตื่นตัวและมีไอเดียที่น่าสนใจ
ที่สำคัญกว่านั้น การเปิดและขยายโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมแก่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยเฉพาะเยาวชนจากสถานพินิจและสามเณร ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสในการพัฒนาทักษะ ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูและการให้โอกาสใหม่ๆ เพื่อพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้นผ่านทักษะความรู้ทางเทคโนโลยี ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าดูได้ที่ https://www.facebook.com/SCIandTECH.RMUTT.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *