สพฐ.เร่งลดชั่วโมงเรียนลง เสนอจัดตั้งกรรมการทบทวนหลักสูตรอีกครั้ง หลังพบเด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก!

ในปัจจุบันประเทศไทยได้จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการทบทวนเนื้อหาหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุคสมัยอยู่อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดจะมีการปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2567  ว่าที่ร้อยตรีธนุ  วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เผยว่า ได้มีการเสนอให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการทบทวนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเร่งปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้ง หลังจากพบผลการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก จากการมีชั่วโมงเรียนมากที่สุด!  ซึ่งการทบทวนหลักสูตรในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดตัวชี้วัดลงและปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้ตอบโจทย์กับยุคสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง การปรับลดชั่วโมงเรียนของเด็กไทยลง

 

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับชั่วโมงเรียนของเด็ก พบว่า เด็กไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนมากที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในประเทศอื่นๆทั่วโลก ประเทศไทยจึงได้จัดเป็นประเทศที่เด็กเรียนหนักที่สุดในโลก!

  • นักเรียนไทยในระดับชั้นประถมศึกษา มีชั่วโมงเรียนไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง/ปีการศึกษา
  • นักเรียนไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีชั่วโมงเรียนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง/ปีการศึกษา
  • นักเรียนไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีชั่วโมงเรียนไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง/ปีการศึกษา

ดังนั้น การทบทวนหลักสูตรในครั้งนี้จึงมุ่งไปที่เรื่องการปรับลดชั่วโมงเรียนของเด็กไทย รวมถึงเรื่องความทันสมัยของเนื้อหาในหลักสูตรต่างๆ โดยการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงดำเนินการตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เน้นลดภาระครู เร่งลดภาระทั้งนักเรียนและผู้ปกครองไปพร้อมๆกัน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกํบจำนวนชั่วโมงเรียนที่จะปรับลดและจำนวนกลุ่มสาระการเรียนรู้ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการทบทวนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรต่างๆ โดยเป็นการทบทวนโดยเปิดรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นศึกษานิเทศน์ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน นักวิชาการ สำนักพิมพ์ เพื่อให้ได้หลักสูตรใหม่ที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับปัจจุบันมากขึ้น

.

แหล่งที่มา : มติชนออนไลน์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *