“บิ๊กอุ้ม” เร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2567  พล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารศธ. ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานแผนในการเพิ่มคุณภาพการศึกษาในระยะยาว เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาและยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA   โดยในส่วนของPISA  จะมีการปรับตัวชี้วัดเพิ่มเติมในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยมีนายศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็น ประธานคณะกรรมการฯ  เพื่อดูแลเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ ตามจริงแล้วหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับครั้งล่าสุด เมื่อปี 2560  และจะมีการปรับอีกครั้งในปีนี้  และจะพิจารณาว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนชื่อให้มีความทันสมัยหรือไม่ เพราะหากไม่เปลี่ยน คนก็อาจคิดว่า เป็นหลักสูตรโบราณ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพียงแต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อ แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับผู้เรียน” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือ แนวทางแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้  โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ไปสำรวจจำนวนตัวเลขของผู้ที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับ ที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้  เพื่อมาเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์  อีกทั้ง ยังเน้นย้ำการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน ให้มีการเบิกจ่ายไปตามแผนการดําเนินงานงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง

 

ขณะเดียวกันยังแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ว่า  ศธ. ร่วมมือกับ scb protect จัดทำประกันอุบัติเหตุให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน- 27 กรกฎาคม พ.ศ.2567 และมีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2567  โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง เป็นจำนวน 90 วัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถลงทะเบียนได้ที่ สกสค. ประจำจังหวัดต่างๆ

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรายงานมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเห็นชอบปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (นักเรียนทุน จ.ภ.) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งผู้รับทุนจะเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานชดใช้ทุนหรือหน่วยงานของรัฐที่ผู้ให้ทุนกำหนด และรับเงินเดือนตามที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เท่าของเวลาที่ได้รับทุนตามสัญญา  โดยหน่วยงานชดใช้ทุนให้หมายความรวมถึง ภาคอุตสาหกรรม สถาบันไทยโคเซ็น และหน่วยงานของรัฐ   เพื่อให้เงื่อนไขการชดใช้ทุนฯ ทั้ง 2 ระยะ มีแนวทางเหมือนกันและขยายสถานที่การปฏิบัติงานรองรับนักเรียนทุนฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดประโยชน์ประเทศที่มีความต้องการกำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

.

แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *