สรุปความคิดเห็น “ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย” ที่เห็นได้ชัดที่สุด คืออะไร?

“ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย” ที่เห็นได้ชัดที่สุด คืออะไร?

จากการสำรวจความคิดเห็นของชุมชนชาว Eduzones พบว่า มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยความคิดเห็นบางส่วนสะท้อนในมุมมองที่ว่า “ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย” สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน จนไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้หมด  ในขณะที่มีความคิดเห็นบางส่วนมองว่า มุมมองเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของความคิดส่วนบุคคล พร้อมทั้งมองว่าทุกคนสามารถเท่าเทียมกันได้เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความขยันและความพยายามของตนเอง

วันนี้ ทาง Eduzones จึงได้รวบรวมและสรุปความคิดเห็นในประเด็นที่ว่า “ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย” ที่เห็นชัดที่สุด คืออะไร?

โดยได้แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลัก ดังนี้

“ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย” ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ…

1. การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน

ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่เห็นได้ชัด คือ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องของ “เงิน” โดยมองว่าสถานะทางการเงินของครอบครัวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างด้านโอกาสของเด็กที่เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยพูดถึงครอบครัวที่มีความพร้อมทางการเงินทำให้สามารถสนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงโรงเรียนที่ดี มีคุณภาพและเข้าถึงโอกาสในการสอบเข้าแข่งขันได้มากกว่า รวมถึงการเรียนในห้องเรียนโครงการพิเศษที่ต้องจ่ายเงินสูงกว่า ในขณะที่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่เรียนเก่ง แต่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาเหล่านั้น

2. การเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน

โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา เป็นหนึ่งในความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด จากความคิดเห็นในเรื่องของความแตกต่างด้านอุปกรณ์สนับสนุนทางการศึกษาและความพร้อมด้านสถานที่ เช่น ความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียนแอร์ ห้องเรียนพัดลม โรงอาหาร ห้องน้ำ รวมไปถึงความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียน เช่น สื่อการเรียนการสอน คอมพิวเตอร์และจอโทรทัศน์ ซึ่งการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ส่งผลให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขึ้น

3. ความแตกต่างด้านคุณภาพบุคลากรครู

มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพของบุคลากรครู ที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย โดยพูดถึงบุคลากรครูในมุมต่างๆ เช่น การที่ครูเก่งไม่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งการไม่รักษาจรรยาบรรณวิชาชีพ อีกประเด็นที่สำคัญคือมีการเปรียบเทียบระหว่างคุณภาพของครูที่สอนในโรงเรียนรัฐและเอกชน รวมถึงครูในโรงเรียนต่างจังหวัดและโรงเรียนประจำจังหวัดต่างๆ ซึ่งการที่สถานศึกษาบางแห่งมีจำนวนครูไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ครูต้องสอนไม่ตรงเอก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของครูเช่นกัน

4. ความแตกต่างด้านคุณภาพสถานศึกษา

มีผู้แสดงความคิดเห็นเรื่องความแตกต่างด้านคุณภาพสถานศึกษา โดยมองว่าชื่อสถาบันเป็นหนึ่งในความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนประเภทต่างๆ เช่น โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนประจำจังหวัดและโรงเรียนขยายโอกาส เป็นต้น  ซึ่งมองว่าแต่ละสถานศึกษามีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของงบประมาณสนับสนุนต่างๆ เช่น เงินอุดหนุนรายหัว รวมไปถึงคุณภาพของครูที่ส่งผลต่อคุณภาพของสถานศึกษา  ดังนั้น คุณภาพสถานศึกษาที่แตกต่างกันก็อาจจะส่งผลให้เด็กได้รับโอกาสและเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน

5.ความแตกต่างในด้านมาตรฐานการเรียนการสอนและการให้คะแนน

มาตรฐานการเรียนการสอนและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน นับเป็นหนึ่งในความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดเกรดที่สะท้อนให้เห็นว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้หลายที่มีการให้เกรดเฟ้อ หรือบางที่ก็มีระบบการแก้เกรด หรือแม้กระทั่งในกรณีที่ครูให้เกรดตามความชอบส่วนตัว เช่น ครูให้เกรดดีๆกับลูกศิษย์ที่ชอบ เป็นต้น นอกจากความแตกต่างในด้านมาตรฐานการประเมินผลผู้เรียนแล้ว ยังมีความแตกต่างในด้านความเข้มข้นของเนื้อหาและรูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำเช่นกัน

.

ทั้งนี้ มีผู้เสนอแนะแนวทางการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ซึ่งพูดถึงการบริหารจัดการของภาครัฐในการจัดให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรอย่างทั่วถึง ให้ทุกโรงเรียนได้รับทรัพยากรที่เหมือนกัน รวมถึงปรับมาตรฐานคุณภาพของโรงเรียนทุกแห่งเพื่อให้เด็กได้มีโรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากชาวชุมชน Eduzones ซึ่งจะเห็นว่ามีมุมมองที่หลากหลายและมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทุกคนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและดูความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *