กระทรวง อว.-TED Fund ลงนาม MOU 10 หน่วยงาน เสริมแกร่งผู้ประกอบการเทคฯ รุ่นใหม่ พร้อมผนึก บสย. เสริมแหล่งเงินทุน ดันธุรกิจนวัตกรรมเติบโตมั่นคง คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1 พันล้านบาท ในปี 67

กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) รวม 10 หน่วยงาน เน้นสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมรุ่นใหม่ เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมศักยภาพ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจไทยอย่างมั่นคง พร้อมลงนาม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมสร้างโอกาสช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่เพียงพอ ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน คาดการณ์ภายในปี 2567 จะสามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ 1,000 ล้านบาท

นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในเป้าหมายของการเดินหน้าไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ‘กระทรวง อว.’ จึงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมของไทยให้เข้าใกล้กับมาตรฐานสากล รวมถึงเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจด้วยฐานนวัตกรรมในระดับนานาชาติด้วย แนวทางหลักที่กระทรวง อว. ใช้ในการทำงาน คือการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน, Startup ไปจนถึง SMEs รวมถึงมุ่งสร้างให้เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ โดยมี TED Fund เป็นหนึ่งในกลไกเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งกับด้านองค์ความรู้พัฒนาศักยภาพ รวมถึงหนุนเงินทุน

“7 ปีที่ผ่านมา TED Fund ทำงานร่วมกับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ TED Fellow ในการพัฒนาไอเดียต้นแบบทางธุรกิจ จนมีความพร้อมออกสู่ตลาดไปได้แล้วกว่า 760 โครงการ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วกว่า 4,500 ล้านบาท พร้อมส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศไทยได้อย่างมากมาย ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือ TED Fellow และ บสย. จะเสริมให้ TED Fund สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการได้มากถึง 260 ราย ในวงเงินรวมกว่า 270 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ประมาณ 1,0000 ล้านบาท” ผู้ช่วยปลัด อว. กล่าว

ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า TED Fund ได้เริ่มจัดตั้งเครือข่าย TED Fellow ขึ้น ตั้งแต่ปี 2563 ให้มีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา และสร้างความเป็นผู้ประกอบการกับนักศึกษาที่มีไอเดียและต้องการเงินทุนสนับสนุน ผ่านโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรม IDEA (สำหรับการนำไปพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี) และโปรแกรม POC (สำหรับกลุ่มนิติบุคคล ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตในเชิงพาณิชย์) การสนับสนุนของ TED Fund มีแนวทางการดำเนินงาน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.การสนับสนุนทุนในรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) ภายใต้กรอบวงเงินสนับสนุน 90% ของมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ ไม่เกิน 2 ล้านบาท, 2.การสนับสนุนในด้านการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ ผ่านโครงการต่าง ๆ ได้แก่ TED Innovation & Business Training กิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ ทั้งด้านการสร้างแบรนด์ การเจรจาซื้อขาย กฎหมาย จนถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ, TED Market Scaling Up Program โปรแกรมสัมมนาเชิงลึก ซึ่งช่วยขยายธุรกิจให้ผู้ประกอบการกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในตลาดโลก

“สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ TED Fund ได้จัดตั้งเครือข่าย TED Fellow เพิ่มเติมครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมจัดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) รวม 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (SPTI PCRU), หน่วยวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (STIP-RU), ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ (HUBIC), คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SDM), ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยสยาม (UBiS), ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABLE), ศูนย์สร้างสรรค์ผู้ประกอบการและนวัตกรรม คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (CCEI), บริษัท บินได้ จำกัด (Bindai), บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด (Techsauce) และ บริษัท เรียลลี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SEA Bridge ) อีกทั้งยังได้ ‘บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม’ หรือ บสย. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมช่วยตอบโจทย์สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ” ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีบทบาทในการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น โดยทำหน้าที่เป็น SMEs Gateway ที่เชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสแก่ SMEs รวมไปถึงเชื่อมโยง SMEs กับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้โดยง่าย นี่จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ บสย. และ TED Fund จะได้ทำหน้าที่ในการเป็น ‘Funding Gateway’ เพื่อร่วมกันเติมเงินทุนและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น

“บสย. มีโครงการ Smart Gen ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PSG 11 ‘บสย. SMEs ยั่งยืน’ ในการร่วมกับสถาบันการเงินรวม 18 แห่ง เพื่อปล่อยสินเชื่อที่เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการใหม่ (อายุไม่เกิน 3 ปี) ในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจบใหม่และกลุ่มนิวเจน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริงได้ ในความร่วมมือนี้ บสย. จึงเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ที่ได้รับทุนจาก TED Fund ให้เข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น โดยนำกลไกค้ำประกันมาใช้สำหรับการลงทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ได้สูงสุด 500,000 บาทต่อราย อัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี และภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมใน 2 ปีแรก ซึ่งเราคาดว่าจากการ MOU ครั้งนี้ จะมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันกว่า 300 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 360 ล้านบาท” นายสิทธิกร กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *