สทศ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คืออะไร มีการสอบเกี่ยวกับอะไรบ้าง ?

สทศ กับการเป็นองค์การมหาชน

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยการจัดระบบ โครงสร้าง และกระบวนการจัดการศึกษา ยึดหลักมีเอกภาพด้านนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพ และมีการทดสอบที่ได้มาตรฐานไปสู่ระดับชาติ สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา
ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐต้องตรวจสอบประเมินผลว่าการจัดการศึกษาที่เป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนที่รัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงนั้น มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดและมีคุณภาพเท่าเทียมกันมากน้อยเพียงใด จึงได้จัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) ขึ้น

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สทศ.” ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “National Institute of Educational Testing Service (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “NIETS” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2548 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรได้สูงสุด มีความเป็นอิสระไมขึ้นอยู่กับสายการบริหารของหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบการจัดการศึกษาจึงมีความเป็นกลาง เป็นสถาบันที่มีการกำหนดหลักการ นโยบาย มาตรการและเป้าหมาย โครงสร้างการบริหาร และการดำเนินกิจการ ความสัมพันธ์กับรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากร การเงิน การตรวจสอบ และการประเมินผลที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์การ จัดตั้งสถาบันเพื่อบริหารจัดการและดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษา วิจัย และให้บริการ ทางด้านการประเมินผลทางการศึกษาและทดสอบทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติ

การทดสอบระดับนานาชาติ

 

การจัดสอบ มีกี่ประเภท ?

 

1. O-NET (Ordinary National Educational Test)

วัตถุประสงค์

1. เพื่อทดสอบความรู้และความคิดรวบยอด ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6

2. เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา

3. เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ

4. เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น การศึกษาวิจัย ขอทุนการศึกษาต่างประเทศ (อาทิ ประเทศเยอรมัน ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเกาหลีใต้ และฮ่องกง) หน่วยงานต่าง ๆ นำไปกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการพัฒนาการศึกษา

 

กลุ่มเป้าหมายและรายวิชาในการทดสอบ

  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิชาที่สอบจำนวน 4 วิชา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
  • นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิชาที่สอบจำนวน 5 วิชา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์  และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

 

ประโยชน์

ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาในระดับต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ

2.V-NET

วัตถุประสงค์

1. เพื่อวัดมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ด้านอาชีวศึกษา ตาม Workplace Competencies (Tier 3) และผลลัพธ์การเรียนรู้ (Leaning Outcome) ของกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ (NQF: National Qualification Framework) ระดับ 1-3

2. เพื่อทดสอบสมรรถนะที่จำเป็น ความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพ และทักษะในศตวรรษที่ 21

3. เพื่อนำสารสนเทศไปใช้ในการวางแผนพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

4. เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เช่น การศึกษาวิจัย ขอทุนการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ นำไปกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการพัฒนาการศึกษา

กลุ่มเป้าหมายและสมรรถนะในการทดสอบ

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3 (ปวช.3) สำหรับสมรรถนะที่จำเป็นในการเข้าสู่อาชีพจำนวน 8 สมรรถนะย่อย ดังนี้

1. ความรู้พื้นฐานด้านอาชีพ (Occupational Fundamentals)

2. การทำงานเป็นทีม  (Teamwork)

3. การปฏิบัติตามคำสั่ง  (Following Directions)

4. การวางแผนและการจัดตารางเวลาการทำงาน (Planning, Organization and Scheduling)

5. การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ (Problem Solving and Decision Making)

6. การคิดเป็นระบบ (Systematic Thinking)

7. สมรรถนะภาษาอังกฤษ (English Competency)

8. สมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)

ประโยชน์

ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และเป็นข้อมูลให้สถานประกอบการนำไปประกอบการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ ทั้งนี้หากผู้เข้าสอบมีผลคะแนนสมรรถนะภาษาอังกฤษ (English Competency) ร้อยละ 80 ขึ้นไปจะได้รับวุฒิบัตรสมรรถนะภาษาอังกฤษสำหรับอาชีพจาก สทศ. และมีผลคะแนนสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ร้อยละ 65 ขึ้นไปสามารถนำผลคะแนนไปยื่นขอรับประกาศนียบัตรมาตรฐานสมรรถนะการใช้ดิจิทัล (DL) จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

3. I-NET

วัตถุประสงค์

1. เพื่อทดสอบความรู้และความคิดรวบยอดของนักเรียน ตามหลักสูตรอิสลามศึกษา พุทธศักราช 2546 และหลักสูตรอิสลามศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 14 มาตรฐานการเรียนรู้
2. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา
3. เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น การศึกษาวิจัย ขอทุนการศึกษาต่างประเทศ (อาทิ ประเทศอียิปต์ ประเทศจอร์แดน ประเทศซาอุดิอารเบีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศบรูไน) หน่วยงานต่าง ๆ นำไปกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการพัฒนาการศึกษา

 

กลุ่มเป้าหมายและรายวิชาในการทดสอบ

ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (ประถมศึกษาปีที่ 6) ระดับอิสลามศึกษาตอนกลาง (มัธยมศึกษาปีที่ 3) และระดับอิสลามศึกษาตอนปลาย (มัธยมศึกษาตอนปีที่ 6) วิชาที่สอบจำนวน 8 วิชา ประกอบด้วย

วิชาอัลกุรอาน  อัลหะดีษ  อัลอะกีดะฮ์  อัลฟิกฮ์ อัตตารีค  อัลอัคลาก  ภาษามลายู  และภาษาอาหรับ

 

ประโยชน์

ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาด้านอิสลามศึกษา และเพื่อนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้วางแผนและยกระดับการจัดการศึกษา ด้านอิสลามศึกษา รวมทั้งส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมระดับภูมิภาค (คาบสมุทรมลายู)

4. B-NET

วัตถุประสงค์

1. เพื่อทดสอบความรู้และความคิดรวบยอดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้น ฐาน พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
2. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา
3. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ
4. เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เช่น การศึกษาวิจัย การให้ทุนการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ นำไปกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการพัฒนาการศึกษา

 

กลุ่มเป้าหมายและวิชาในการทดสอบ

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (เน้นนักธรรมชั้นตรี-โท) และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (เน้นนักธรรมชั้นโท-เอก) วิชาที่สอบจำนวน 4 วิชา ประกอบด้วย วิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวินัย

 

ประโยชน์

ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาในระดับต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้

ในการวางแผนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ

5. N-NET

วัตถุประสงค์

1. เพื่อทดสอบความรู้และความคิดรวบยอดของนักเรียนในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ของหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
2. เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา
3. เพื่อเป็นองค์ประกอบการสำเร็จการศึกษา ตามเกณฑ์การจบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา (ในการเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ)
4. เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เช่น การศึกษาวิจัย หน่วยงานต่าง ๆ นำไปกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการพัฒนาการศึกษา

กลุ่มเป้าหมายและสาระในการทดสอบ

นักเรียนระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาระที่สอบจำนวน 5 สาระ ประกอบด้วย สาระทักษะการเรียนรู้ (วิชาทักษะการเรียนรู้) ความรู้พื้นฐาน (วิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์)  การประกอบอาชีพ (วิชาช่องทางการเข้าสู่อาชีพ วิชาช่องทางการพัฒนาอาชีพ วิชาช่องทางการขยายอาชีพ วิชาทักษะการประกอบอาชีพ วิชาทักษะการพัฒนาอาชีพ วิชาทักษะการขยายอาชีพ วิชาพัฒนาอาชีพให้มีอยู่มีกิน วิชาพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็ง และวิชาพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคง) ทักษะการดำเนินชีวิต (วิชาเศรษฐกิจพอเพียง วิชาสุขศึกษา วิชาพลศึกษา และวิชาศิลปศึกษา) และการพัฒนาสังคม (วิชาสังคมศึกษา วิชาศาสนาและหน้าที่พลเมือง และวิชาการพัฒนาตนเองชุมชน สังคม)

ประโยชน์

ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาในระดับต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ ผลการประเมินสามารถเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

และอื่นๆอีกมากมาย สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.niets.or.th/th/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *