เปิดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ศธ.รูปแบบ single command โฉมใหม่ พ.ศ.2567
เปิดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
โครงสร้าง ศธ.รูปแบบ single command โฉมใหม่ พ.ศ.2567
เปิดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปรับแก้วันที่ ๒๑ ก.ย.๖๗ ที่อ้างว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเร็วๆ นี้ ซึ่งได้มีการแชร์ต่อๆ กันในโซเชียลกลุ่มคนแวดวงการศึกษา สอดคล้องกับร่างโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในรูปแบบ single command “ซิงเกิล คอมมานด์” ที่มีการเผยแพร่ในห้วงเวลานี้ ที่มี “รัฐมนตรีว่าการ ศธ.” ดูแลนโยบายในภาพรวม มี “ปลัด ศธ.” เป็นข้าราชการผู้บริหารระดับสูงเพียงคนเดียว แยกหน่วยงานในส่วนกลางออกเป็น 5 กรม ได้แก่ กรมอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ การส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด) เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมประสานลงไปถึงสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด สถาบันอาชีวศึกษา , สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัด กลุ่มโรงเรียน โรงเรียน , สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ , สำนักงานส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาเอกชนจังหวัด สถานศึกษาเอกชน
โดยตัวร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่อ้างว่ามีการปรับแก้ล่าสุดวันที่ ๒๑ ก.ย.๖๗ และจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร หมวด ๕ การบริหารและการจัดการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
ส่วนที่ ๑ การบริหารและการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
มาตรา ๔๓ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษา รวมทั้งมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และอุดหนุนการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ เอกชน และบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกระทรวงอื่นที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
มาตรา ๔๔ การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะต้องดำเนินการให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภายในทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เป็นไปอย่างมีเอกภาพและสามารถบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุความมุ่งหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
มาตรา ๔๕ ให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังราชการส่วนภูมิภาค เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา
ส่วนที่ ๒ การบริหารและการจัดการศึกษาในราชการส่วนภูมิภาคและเขตพื้นที่การศึกษา
มาตรา ๔๖ การบริหารราชการและการจัดการศึกษาในราชการส่วนภูมิภาคให้ยึดเขตจังหวัด
มาตรา ๔๗ ในแต่ละจังหวัดให้มีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรรมการอื่น ทั้งนี้ องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๘ คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์แนวทางการจัดการศึกษาของจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ทุกระดับและทุกประเภท ประสานและส่งเสริมการบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของหน่วยงานของรัฐ เอกชน และบุคคลหนึ่งบุคคลใด ที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย
(๓) พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด
(๔) พิจารณาและให้ความเห็นชอบกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานและตัวชี้วัดในการดําเนินงาน ในลักษณะตัวชี้วัดร่วมของส่วนราชการหรือหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(๕) ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของจังหวัด
(๖) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(๗) วางแผนการจัดการศึกษาและพิจารณาเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษา
(๘) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามความจําเป็นเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ กศจ.
มาตรา ๔๙ จังหวัดหนึ่งอาจกำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษาได้ตามที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนการบริหารงานและการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตจังหวัด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาจเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อกระจายอำนาจการบริหารงานและการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงถึงระดับและประเภทของการศึกษา จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรม ขนาดและลักษณะของพื้นที่ในจังหวัด จำนวนนักเรียน และความเหมาะสมด้านอื่นด้วย
ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแล จัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่จัดการศึกษา เอกชน และบุคคล ในเขตพื้นที่การศึกษา ให้สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษา
องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง