อยากเรียนครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง?

การเรียนด้านครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์นั้นจะเรียนรู้ถึงหลักการ ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับการสอน การทำความเข้าใจว่าระบบ วิธีการสอนต่างๆ เพื่อให้เราสามารถเป็นผู้สอนที่ดี และสามารถถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง

โดยสำหรับน้องๆ หลายคนที่สนใจอยากเรียนต่อในคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ แต่ยังไม่ทราบว่าในคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์นั้น มีสาขาอะไร และสาขาใดน่าสนใจบ้าง วันนี้เราได้รวบรวมสาขาของคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ที่มีในประเทศไทยมาแนะนำกันค่ะ

 

1 สาขาการศึกษาปฐมวัย (Early Childhood Education)

สาขานี้จะได้เรียนเกี่ยวกับ วิชาชีพครูคับบังและวิชาเอกเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัย การจัดการศึกษาปฐมวัย  พัฒนาการหลักสูตรปฐมวัย กระบวนการจัดประสบการณ์เป็นต้น ซึ่งจะได้เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป

2 ประถมศึกษา (Elementary Education)

สาขานี้จะได้เรียนเกี่ยวกับ การเรียนการสอนทางด้าน วิชาด้านการสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.4) เพื่อให้สอนได้ทุกวิชา  กลุ่มวิชาเนื้อหาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น (เลือก 2 กลุ่มตามความสนใจ) หลักสูตรระดับประถมศึกษา กิจกรรมพัฒนานักเรียนระดับประถมศึกษา และวิชาด้านบริหารจัดการและการวิจัย ฯลฯ

3 มัธยมศึกษา (Secondary Education)

สาขานี้จะได้เรียนเกี่ยวกับการเตรียมครูสำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป จิตวิทยาและการแนะแนว เทคโนโลยีการศึกษา และภาษาอังกฤษ เป็นต้น

4 สุขศึกษาและพลศึกษา (Health and Physical Education)

สาขานี้จะเน้นการเรียนด้านสุขภาพที่มีเป้าหมายเพื่อการดำรงสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของบุคคล ครอบครัว และชุมชนให้ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาพฤติกรรมด้านปัญญา เจตคติ คุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และการปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพ และเรียนวิชาชีพทางด้านครู

5 เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology)

ในสาขานี้จะได้เรียน การออกแบบและพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และจะได้เรียนวิชาพื้นฐานด้านสื่อมวลชนหรือนิเทศศาสตร์ เช่น การออกแบบและผลิตสื่อ องค์ประกอบศิลป์ คอมพิวเตอร์กราฟิก แอนิเมชัน การสร้างบทเรียนและเว็บไซต์บนเครือข่าย ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และการบำรุงรักษา และเรียนวิชาชีพทางด้านครู เช่น วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษสำหรับครู จิตวิทยาการศึกษา การแนะแนว การพัฒนาหลักสูตรการสอน เป็นต้น

6 ศิลปศึกษา (Art Education)

สาขาศิลปศึกษาจะได้เรียนทฤษฎีที่เป็นวิชาชีพครู และทฤษฎีทางศิลปะ ที่ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระที่สำคัญ 4 แกนด้วยกันคือ 1. ประวัติศาสตร์ศิลปะ (Art History) 2. ศิลปวิจารณ์ (Art Criticism) 3. สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) 4. ศิลปะปฏิบัติ (Art Skill)

7 ดนตรีศึกษา (Music Education)

ในสาขานี้มหาวิทยาลัยส่วนมากจะแบ่งเป็น 2 วิชาเอก คือ ดนตรีไทย และดนตรีสากล ในแต่ละวิชาเอกสามารถเลือกความสนใจพิเศษไปทางการสอนเครื่องดนตรีและวงดนตรี หรือการสอนทฤษฎีก็ได้ จะได้ศึกษาด้านการเรียนการสอน กระบวนการ และแนวคิดด้านดนตรีศึกษาในแบบต่าง ๆ ของโลก และ นิสิตที่เรียนวิชาเอกดนตรีประเภทใดประเภทหนึ่ง ก็จะได้เรียนวิชาดนตรีพื้นฐานในอีกสายหนึ่งไปด้วย เช่น นิสิตเอกดนตรีไทย จะได้เรียนวิชาทฤษฎีดนตรีตะวันตก การขับร้องประสานเสียง ประวัติศาสตร์วรรณคดีดนตรี ในทางกลับกัน นิสิตเอกดนตรีสากล ก็จะได้เรียนรู้ในวิชาพื้นฐานด้านดนตรีไทยด้วย

8 ธุรกิจศึกษา (Business Education)

สาขานี้จะได้เรียนเกี่ยวกับ ธุรกิจเบื้องต้น เช่น บัญชี เศรษฐศาสตร์(2ตัว ทั้งจุลภาคและมหภาค) ธุรกิจเบื้องต้น การเงิน การตลาดและการจัดการ เมื่อขึ้นปี 3 จะเน้นการเรียนที่เน้นไปทางธุรกิจที่เฉพาะด้านมากขึ้น ตามความสนใจของนิสิตแต่ละคน และเรียนวิชาชีพทางด้านครู ซึ่งจะเป็นการสอนเกี่ยวกับด้าน จิตวิทยา พฤติกรรมของผู้เรียน การจัดทำหลักสูตร, การประเมินผลและการฝึกสอน

9 การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non-Formal Education)

สาขานี้จะได้เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น พื้นฐานการศึกษาและวิชาชีพครู การออกแบบและการจัดการการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การวัดและประเมินผลทางการศึกษา และจิตวิทยาพื้นฐานการศึกษา เป็นต้น วิชาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการวางแผนการสอน การจัดการห้องเรียน และการวัดผลเด็กนักเรียน

10 จิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ (Counseling Psychology, Guidance and Special Education)

 ในสาขานี้จะได้เรียนเรียนวิชาจิตวิทยาการสอน จิตวิทยาการพัฒนาผู้เรียน จิตวิทยาการจูงใจ การให้บริการแนะแนว การจัดกิจกรรม จัดโปรแกรมการแนะแนว หลักการแนะแนว และการให้คำปรึกษา และเอกการศึกษาพิเศษ ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษประเภทต่าง ๆ จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่ว ๆ สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ วิธีการให้ความช่วยเหลือ วิธีการจัดการศึกษา

11 การศึกษาตลอดชีวิต (Bachelor of Education Program in Lifelong Education)

สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต เป็นการนำความรู้ด้านวิชาชีพครู การศึกษาวิชาการ การศึกษานอกระบบ มาพัฒนามนุษย์และสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งบุคคล องค์กร และพื้นที่ชุมชนที่ขาดโอกาสในการศึกษา ด้วยการจัดกิจกรรม จัดอบรม ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายในวัยต่าง ๆ

 

โดยนอกจากสาขาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นแล้ว ในแต่ละสาขาก็จะมีการเลือกสาขาวิชาที่เราสนใจเป็นสาขาย่อยๆ อีกอย่างเช่น ถ้าเราเลือกสาขาประถมศึกษาแล้วเราสนใจอยากสอนวิชาอะไร ก็จะมีให้เลือกแยกย่อยออกไป  ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม เป็นต้น

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *