ร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก สมควรหรือไม่? มีที่มาอย่างไร?

เครือข่ายสิทธิเด็ก พร้อมผลักดันปรับแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน โดยเสนอปรับแก้คือ ต้องไม่ทุบตี ไม่ทำร้ายร่างกาย และวาจาต่อเด็กในทุกรูปแบบ เพราะทำให้เด็กมีความเสี่ยงพฤติกรรมก้าวร้าว ขาดความยั้งคิด ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีความเครียดว่าจะถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ พร้อมระบุว่า การกระทำความรุนแรงกับเด็ก มีความเสี่ยงที่จะให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวและอาจเข้าสู่วังวนการใช้ความรุนแรงในอนาคต พร้อมทั้งเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียมากมายตามมา ทั้งต่อสภาพร่างกายและจิตใจ

 

และเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก ที่เสนอโดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ ซึ่งกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เข้าสู่การลงมติในวาระ 2-3 โดยในการอภิปราย สส. ฝ่ายรัฐบาล ทักท้วงประเด็นที่ร่างเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567 และท้ายที่สุด กมธ. ได้ขอถอนรายงานเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและเตรียมนำร่างกฎหมายเข้าสู่ สภาฯ อีกครั้ง

 

โดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย และ กมธ. ยืนยันว่าเนื้อหามุ่งเน้นให้มีพ่อแม่และผู้ปกครองมีการลงโทษที่เหมาะสม ไม่ใช่ตามที่บางคนกล่าวอ้างว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองจะลงโทษหรือกระทำใด ๆ กับลูกไม่ได้เลย แต่เพียงอยากให้อยู่ในขอบเขตเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของเด็ก และอาจทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจต่อตัวเด็กแทนที่จะเกิดการเรียนรู้แทน

 

แต่ยังเป็นที่น่าเสียดายที่ กมธ. จำเป็นต้องถอนร่างเพื่อกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง และก่อนหน้านี้ กฎหมาย ปี 2548 มีระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามการเฆี่ยนตี ทำร้ายเด็ก มีโทษอาญา แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีการตีเด็ก แต่ก็ไม่มีการฟ้องร้อง เพราะถูกมองว่าเป็นการทำโดยเป็นจารีตประเพณี โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อมา พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เมื่อถูกกระทำความรุนแรงในวัยเด็ก แม้ว่าเวลาผ่านไปเด็กโตขึ้นแต่เหตุการณ์นั้นยังอยู่ในความทรงจำ การทำร้ายร่างกายเด็กจะส่งต่อปัญหาทางอารมณ์จากรุ่นสู่รุ่น ต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและไม่ควรมองข้ามความรุนแรงภายในครอบครัว

 

มาตรา 1567 คืออะไร ?

“มาตรา 1567” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1567 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

 

              (๑) กำหนดที่อยู่ของบุตร

              (๒) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

              (๓) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

              (๔) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ” 

 

กฎหมายห้ามตีเด็กนั้นถือเป็นอีก 1 เรื่องที่น่าผลักดันให้มีความชัดเจน ครอบคลุม และมีการใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความรุนแรงต่อครอบครัวและต่อตัวเด็ก การใช้ความรุนแรงเพื่อลงโทษนั้นมีแต่ผลเสียที่ตามมา ส่งผลต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจต่อตัวเด็กในระยะยาว และมีแนวโน้วทำให้เด็กที่เคยถูกทำโทษอย่างรุนแรง กลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเองเมื่อโตขึ้น จึงหวังว่าในการเสนอร่างกฎหมายห้ามตีเด็กในครั้งหน้าจะได้รับการพิจารณากฎหมายฉบับนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่นค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Legardy

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *