KOSEN KMUTT กับการสร้างวิศวกรนักปฏิบัติ

“อุปกรณ์ตรวจการรั่วของถุงยางอนามัย” “เครื่องบรรจุลูกเทนนิสลงกระป๋อง” “เครื่องประกอบกล่องกระดาษลูกฟูก” เหล่านี้คือบางส่วนของโมเดลชิ้นงานที่เกิดจากไอเดียของนักศึกษา KOSEN KMUTT ที่จัดแสดงขึ้นเป็นกิจกรรมโชว์เคสจากนักศึกษา KOSEN KMUTT รุ่นที่ 1-2 ในงาน “KOSEN KMUTT Opportunity Day 2024” Showing Skills, Finding Opportunity” เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งของการจัดงานนี้ เพื่อให้นักศึกษา KOSEN KMUTT ได้พบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับบริษัทพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของกระทรวง อว. ในการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและสามารถต่อยอดความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและสร้างความยั่งยืนในการพัฒนากำลังคนของประเทศ

“นักเรียนโคเซ็น มจธ. รุ่นแรก ที่เข้ามาเรียนเมื่อปี พ.ศ.2563 กำลังจะผ่านขั้นตอนสำคัญของหลักสูตร คือฝึกปฏิบัติงานจริงกับบริษัทเอกชนชั้นนำ ตลอดเทอมที่ 2 ของปีการเรียนปีที่ 5 ที่เป็นปีสุดท้ายของหลักสูตร ดังนั้น เป้าหมายของงานนี้ จึงเป็นทั้งการนำเสนอผลงานหรือโปรเจกต์ของนักศึกษา KOSEN KMUTT รุ่นที่ 1-2  รวมถึงการออกบูธของบริษัทชั้นนำกว่า 20 บริษัท ที่สนใจจะรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานในบริษัทของตนเอง และโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างหลักสูตรวิศวกรรมอัตโนมัติ (นานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัดกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเกิดความร่วมมือทางการศึกษาที่หลากหลายในอนาคต”

Ms. Maki Kawamura Minister Counsellor, Representative of the Embassy of Japan in Thailand ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง KOSEN ที่หน่วยงานของไทย เพื่อพัฒนาหลักสูตรเชิงปฏิบัติการพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ สร้างประโยชน์กับสังคมได้ เปรียบได้กับการมีสถาบันเพื่อสร้าง “คุณหมอของสังคม” (Social doctor) นั่นเอง

รศ.ดร.พจน์ ตั้งงามจิตต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ในฐานะประธานสาขาวิชาวิศวกรรมอัตโนมัติ กล่าวว่า จากจุดเด่นของหลักสูตรนี้ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ที่เขาได้รับการฝึกฝนบ่มเพาะมาตั้งแต่ชั้นปี 1 (เทียบเท่า ม.4)  จนถึงปี 5 (เทียบเท่าปริญญาตรี ปี 2) ทำให้มั่นใจได้ว่าการฝึกงานของน้อง ๆ จะเป็นประโยชน์ในหลายๆ ด้าน

“นอกจากจะได้โปรเจกต์ที่เข้าไปแก้ปัญหาให้กับบริษัท หรือเป็นข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการขั้นต่อไปของบริษัทในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ยังจะได้ไอเดียจากนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการช่วยพัฒนางานให้ได้  ส่วนตัวนักศึกษาเอง ก็จะเป็น 1 เทอมของการฝึกงานแบบ WiL (Work-integrated Learning)  ที่ได้ทั้งประสบการณ์จากการทำงานหน้างานจริงๆ เรียนรู้จากคนทำงานตัวจริง  อีกทั้งเป็นข้อมูลประกอบการเลือกเส้นทางอาชีพของเขาว่า จะกลับมาเรียนต่ออีก 1.5-2 ปี เพื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานก่อนเพื่อนรุ่นเดียวกัน 2 ปี”

ด้าน นางสาวนลิน พิจิตกำเนิด หรือน้องนะโม  หนึ่งในนักศึกษา KOSEN KMUTT ปี 5  ที่นำเสนอผลงานอุปกรณ์ประกอบกล่องกระดาษเพื่อใช้กับบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยลดการใช้แรงงานคนในงานลักษณะที่ต้องทำซ้ำๆ และมีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น กล่าวว่า หลักสูตรนี้ได้ช่วยพัฒนาตนเองในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเรียน และการใช้ชีวิต

“ที่นี่จะมีโปรเจกต์ให้ทำตั้งแต่ปี 1 โดยเราต้องคิดเองตั้งแต่ต้นว่าจะทำอย่างไร กระบวนการจะเป็นแบบไหน  ซึ่งสิ่งนี้ช่วยจัดลำดับความคิดในการทำงานของเราให้เป็นระบบมากขึ้น  พร้อมกันนั้นยังเป็นการฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่นไปพร้อมกัน  และที่สำคัญคือเป็นหลักสูตรที่ทำให้ทุกคนเคารพและยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน สามารถนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนไอเดียและมุมมองกับเพื่อนๆ และอาจารย์ทุกท่านได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสำหรับคนที่รู้ตัวเองว่าอยากเป็นวิศวกรจริง ๆ ที่นี่คือทางเลือกที่ดีมาก ๆ เพราะทั้งตัวหลักสูตร สิ่งแวดล้อม รวมถึงคนรอบตัว จะช่วยผลักดันให้เราพุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *