“รมช.ศธ.” ชี้ “ผลประเมิน สมศ. หนึ่งกลไกลสำคัญสะท้อนเป้าหมาย “เรียนดีมีความสุข” ชูตัวอย่าง “โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก” โรงเรียนขยายโอกาส ทลายข้อจำกัดสู่โรงเรียนคุณภาพ พร้อมดันผลการทดสอบโอเน็ตสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติ

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) โชว์ตัวอย่างโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 จังหวัดบุรีรัมย์ โรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบความสำเร็จในการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาปรับใช้พัฒนาโรงเรียนจนสามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้แบบก้าวกระโดด ทำให้ผลสอบ O-NET สูงกว่ามาตรฐานระดับประเทศ มาแล้ว 2 ปี ต่อเนื่อง และยังสามารถพัฒนารูปแบบ PALADPUK MODEL เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดย รมช.ศธ. ยังได้ย้ำให้ทุกฝ่ายต้อง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ตามนโยบายพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทยบรรลุเป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข”

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊กเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เมื่อปี พ.ศ. 2564 ซึ่งพบว่าผลการประเมินคุณภาพภายนอกอยู่ในระดับ “ปรับปรุง” ทั้งในส่วนการศึกษาปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2566 โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊กได้เข้าร่วม โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ของ สมศ. โดยมีศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก ทำให้โรงเรียนได้รับองค์ความรู้ และแนวทางในการนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการประกันคุณภาพภายนอกไปปรับใช้พัฒนาโรงเรียนและผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการได้อย่างชัดเจน และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊กมีผลการประกันคุณภาพภายนอก ทั้งการศึกษาปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดอยู่ในเกณฑ์ “ดีมาก” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด โดยปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ทั้งด้านตัวผู้เรียน สถานศึกษาและผู้บริหาร เห็นได้จากนักเรียนมีผลการทดสอบ O-NET สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศจากเดิมที่เคยได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างมากในการสร้างผลลัพธ์ทางการศึกษาด้วยแนวคิด เรียนดี มีความสุข ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา – สร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้เรียนทุกคน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและชนบท มักประสบปัญหาขาดแคลนทั้งงบประมาณ บุคลากร และทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นจึงได้มอบนโยบายให้ สมศ. เร่งดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกกลุ่มโรงเรียนดังกล่าว เพื่อช่วยสะท้อนสภาพที่เป็นจริงของโรงเรียน ให้ทราบถึงจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง ตลอดจนแนวทางในการพัฒนา พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้และติดตามผลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนสามารถแก้ปัญหา พัฒนา และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นได้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับการประกันคุณภาพภายนอกจำนวน 3,020 แห่ง และมีโรงเรียนที่เข้ารับการสำรวจว่ามีการนำผลประกันคุณภาพภายนอกไปใช้จำนวน 2,995 แห่ง และพบว่าทั้งหมดกว่า 99% มีการนำผลการประเมินไปใช้ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาในการประเมิน ปี 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ในส่วนของรูปแบบการประเมิน กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก ผู้ประเมินภายนอก และส่วนของโรงเรียนเองที่รับการประเมินแล้วก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น”

นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการยกระดับคุณภาพการศึกษา โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊กได้นำข้อมูลจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พ.ศ. 2564 และจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้ของ สมศ. มาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบ PALADPUK MODEL (ปลัดปุ๊กโมเดล) ภายใต้แนวคิด “5 ร่วม” ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมประเมินผล และร่วมชื่นชม ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนรับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จ โรงเรียนยังได้นำ PALADPUK MODEL มาจัดทำเป็น Best Practice เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปยังโรงเรียนอื่นๆ โดยมีโรงเรียนที่นำไปประยุกต์ใช้ ได้แก่ โรงเรียนวัดบ้านกะหาด โรงเรียนวัดบ้านกะชาย โรงเรียนบ้านตะโกตาเนตร ซึ่งก็พบว่าผู้เรียนมีสมรรถนะด้านผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตรและมีผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

 “ความสำเร็จของโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส หรือโรงเรียนที่เคยมีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง แต่หากสถานศึกษา นำข้อเสนอแนะไปปรับใช้อย่างจริงจังก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและได้รับผลการประเมินที่ยอดเยี่ยมได้ เพราะข้อเสนอแนะของ สมศ. สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษา และปฏิบัติได้จริง”

นายสุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รมว.ศธ. จะย้ำเสมอว่า ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสก็ต้องให้ความสำคัญเพราะกลุ่มโรงเรียนดังกล่าวแม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดาร แต่ก็มีจุดเด่นอยู่ที่ความใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้สามารถเข้าใจบริบทและความต้องการของผู้เรียนได้อย่างลึกซึ้ง สามารถปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ ที่สำคัญคือใกล้บ้าน ซึ่งเชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็คงไม่ต้องการให้ลูกหลานไปเรียนไกลหูไกลตา ดังนั้น หากทุกฝ่ายช่วยกันดูแลพัฒนาโรงเรียน ทำงานร่วมกันตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน เด็กก็จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

ทั้งนี้ กิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊กยังมีความน่าสนใจ ด้วยการเริ่มต้นจากปัญหาด้านสุขภาพในช่องปากของนักเรียน ทางโรงเรียนจึงได้คิดค้นโครงงานการผลิตยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และสเปรย์ดับกลิ่นปากจากใบข่อย ซึ่งเป็นพืชที่พบมากในบริเวณโรงเรียนและชุมชน มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ และได้รับเหรียญทองจากการประกวดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 71 ปีการศึกษา 2566 โดยโรงเรียนยังได้นำนโยบาย “สุขาดี มีความสุข” ไปปฏิบัติตามจนเกิดผลสำเร็จอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *