สจล. ย้ำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไทยปี 2025

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “5 Innovation and Technology Trends 2025” จับตาเทรนด์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลก ปี 2025 จาก 5 มุมมองของนักนวัตกรรมระดับประเทศ ชี้จะเกิดความท้าทายใหม่ในอุตสาหกรรมการผลิต “การรวมร่าง” ของเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่ซับซ้อน จะมีการนำศักยภาพของ “Quantum Computing” มาใช้เป็นเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงโลก การก้าวสู่ยุคสุขภาพอัจฉริยะ ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึง การตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องตื่นตัวกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ ครอบคลุมการใช้ชีวิตในแต่ละวันไปจนถึงการผลิตในอุตสาหกรรมขั้นสูงของประเทศ ซึ่งสจล.ได้สนับสนุนทีมนักวิชาการ นักวิจัย ระดมสมองค้นคว้าพัฒนางานร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลงานนวัตกรรมนำเทรนด์ อาทิ จัดตั้งศูนย์ “KMITL Academy of Innovative Semiconductor” (KISEM) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดัคเตอร์ที่ครบวงจรแห่งแรกในประเทศ สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการ Learning City เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในพื้นที่ลาดกระบัง และจ.ชุมพร และในเร็ว ๆ นี้จะเปิดตัวโครงการ KMITL Smart Wellness Institute สจล. อีกด้วย

รศ. ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กล่าวว่า ในปี 2025 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะยิ่งก้าวหน้าและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสองด้านหลักที่สำคัญ ได้แก่ เซมิคอนดัคเตอร์ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งทั้งสองเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอุตสาหกรรมและสังคม เพราะเซมิคอนดัคเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคต    การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนในด้านเซมิคอนดัคเตอร์ยังคงร้อนแรง มีความยั่งยืน เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ ชิปรุ่นใหม่จะมีขนาดเล็กลงและประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถบรรจุเทคโนโลยี AI ในอุปกรณ์ต่าง ๆ  ได้มากขึ้น เช่น สมาร์ทโฟน รถยนต์ และอุปกรณ์ IoT การลงทุนในอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย ที่เริ่มมีการผลิตในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ การลงทุนในเซมิคอนดัคเตอร์และแผ่นวงจรพิมพ์มีมูลค่าอุตสาหกรรมเติบโตในระดับหมื่นล้านถึงแสนล้านบาท ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานและผลิตวิศวกรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก

ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. กล่าวว่าในปีหน้าจะเป็นปีที่เกิดการรวมร่าง สร้างใหม่ ใส่ใจมนุษยธรรม ของเทคโนโลยีและการออกแบบ ซึ่งจะผสานรวมกันมากขึ้น เปรียบเสมือนการรวมร่างของเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาเมืองที่ปลอดภัยและสะดวกสำหรับผู้สูงวัย หรือนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้เทคโนโลยีมีข้อดีช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น แม่นยำ และใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากขาดจริยธรรม เทคโนโลยีอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เกิดความเสียหายต่อมนุษยชาติได้ ดังนั้นสถาปนิกและผู้ออกแบบหรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมจึงต้องใส่ใจมนุษยธรรมในการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้วย โดยการรวมร่างรวมเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเพื่อทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยแก้ปัญหารักษาสิ่งแวดล้อม และการใส่ใจมนุษยธรรม ทั้งยังเป็นปีแห่งการรวมพลังของเทคโนโลยีและการออกแบบที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน

รศ. ดร.อาภาภรณ์ สกุลการะเวก รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. เปิดเผยว่า เทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปอีกขั้น โดยเฉพาะ Quantum Computing ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหลายอุตสาหกรรม เป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต มีศักยภาพมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงโลก ตั้งแต่การพัฒนาตัวยาชนิดใหม่ ๆ ด้วยการจำลองชีวโมเลกุล การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ใช้ในระบบโลจิสติกส์ ไปจนถึงการยกระดับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีความสามารถประมวลผลข้อมูลได้รวดเร็วและแม่นยำกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันเป็นอย่างมาก แม้ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดด้านการควบคุมปัจจัยแวดล้อมภายนอก แต่คาดว่าในอีกไม่กี่ปี Quantum Computing จะถูกนำมาใช้ในวงกว้างและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง เทคโนโลยีควอนตัมจะช่วยให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมในวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ และยังช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ในหลายมิติ

ผศ. ดร.บุหงา ตโนภาส รักษาการแทนคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ในปี 2025 เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของระบบสุขภาพ ช่วยลดความซับซ้อน และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ตั้งแต่การรักษาไปจนถึงการดูแลเชิงป้องกัน ก้าวสู่ยุคสุขภาพอัจฉริยะ เช่น ระบบดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้แอปพลิเคชันหรือระบบออนไลน์ในการนัดเข้ารับการรักษา รับยา นอกจากนี้ อุปกรณ์สมาร์ทแก็ดเจ็ตยังเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถรับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพได้สะดวกขึ้น เช่น การติดตามสุขภาพผ่านเซนเซอร์ที่ลูกหลานสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ ระบบ AI ที่สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้สูงอายุออกไปสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย และสามารถเข้ารับการดูแลสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี นวัตกรรม และจริยธรรม จะเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการด้าน Wellness ตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต

คุณปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีความท้าทายใหม่ ๆ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่เคยใช้เวลานานหลายปี ตอนนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในไม่กี่เดือน หรือแม้กระทั่งไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น เป็นความท้าทายให้ทุกคนต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เร็วขึ้นเพื่อไม่ให้ตกยุค ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอนาคต มีความท้าทาย 2 ด้าน คือ  AI (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม ไม่เพียงแค่เรื่องความสามารถในการประมวลผลหรือความฉลาดของ AI แต่ยังเกี่ยวข้องกับการนำ AI ไปใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละบุคคลหรือองค์กร และต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่อง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายที่ต้องใช้เทคโนโลยีแก้ไข ซึ่งมีผลกระทบทั่วโลก การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการลดผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ที่ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยประเทศไทยเองก็กำลังเตรียมที่จะประกาศ คาร์บอนแท็ก ในปี 2025 เพื่อลดปัญหานี้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเช่นกัน  ทั้งนี้การจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเศรษฐกิจยังคงต้องอาศัยนวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นวัตกรรมไม่เพียงแค่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ยังเป็นการสร้างคุณค่าและแก้ไขปัญหาที่สำคัญในสังคมและเศรษฐกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial  และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *