สิ่งที่ต้อง “เข้าใจ” ในการคำนวณคะแนน+นำคะแนนไปใช้ ในระบบ #TCAS68

ประกาศผลออกมาเรียบร้อยแล้วนะครับสำหรับคะแนน TGAT และ TPAT ปี68 ทีนี้น้อง ๆ #dek68 ก็จะเหลือแค่รอผลคะแนน A-Level  ซึ่งถึงตอนนี้น้อง ๆ หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำคะแนนไปใช้ ไปคำนวน ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี คำนวนอย่างไร พี่แฮนด์ก็เลยจะมาไล่เป็นข้อ ๆ ไปนะครับ ว่าน้อง ๆ พอได้คะแนนมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเริ่มจากอะไรก่อนไปหลัง พี่แฮนด์เลยมาทำความเข้าใจให้ในบทความนี้นะครับ
.
1.ทำความเข้าใจกติกา
กติกาในที่นี้ก็คือ “คะแนน” ในมือเราที่นำไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพราะในแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะมีกติการหรือที่เรียกว่า “เกณฑ์คัดเลือก” ที่จะระบุไว้ในระเบียบการรับสมัครอย่างชัดเจน ว่าใช้คะแนนอะไรบ้าง สัดส่วนเท่าไหร่
เราหรือตัวน้อง ๆ มีหน้าที่ไปดูว่ามหาวิทยาลัย ในคณะ/สาขา ที่เราต้องการสมัคร เค้าระบุว่าใช้คะแนนอะไรบ้าง แล้วมาดูตัวเราเองว่า “มี” คะแนนที่ระบุไว้ครบทุกวิชามั้ย เพราะนั่นถือว่าเป็นกติกาเบื้องต้น ที่ทุกคนต้องมีคะแนนที่ใช้เป๋นเกณฑ์คัดเลือกครบทุกวิชาก่อน ถึงจะสามารถยื่นสมัครได้ เพราะไม่งั้นแล้ว ถ้าเรามีคะแนนไม่ครบก็ถือว่า “ผิดกติกา” ซึ่ง = ผิดคุณสมบัติเบื้องต้น นะครับ ยื่นไปก็จะไม่ได้รับการพิจารณานะครับ
.
2.เข้าใจเกณฑ์คะแนนคัดเลือก
พอเราทำเข้าใจกติกาแล้วต่อมาคือทำความเข้าใจเกณฑ์คัดเลือก ในเกณฑ์คัดเลือกนอกจากจะระบุวิชาที่ใช้แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่จะถูกระบุไว้คู่กันคือ “เกณฑ์ค่าน้ำหนัก” หรือเกณฑ์คะแนนสัดส่วนนั่นเอง ว่าวิชานี้จะใช้เป็นค่าหนักกี่เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง..
คณะเอ มหาวิทยาลัยบี มีเกณฑ์คัดเลือกดังนี้
TGAT 50 %
TPAT1 50%
(คือทุกที่ทุกมหาวิทยาลัย จะระบุเกณฑ์สัดส่วน/ค่าน้ำหนักรวมกัน 100 % อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับใช้กี่วิชา ค่าน้ำหนักก็มากน้อยแตกต่างกันไป)
จากตัวอย่างใช้ TGAT 50% คิดง่าย ๆ ถ้าน้อง ๆ ได้คะแนน TGAT เต็ม 100 คะแนน ก็จะคิดเป็น 100 % ของคะแนน TGAT น้อง ๆ ก็จะได้ค่าน้ำหนักที่จะยื่นคณะนี้ 50% เต็ม ในส่วนของ TGAT
ถ้าน้อง ๆ สอบได้ 50 คะแนน ก็จะคิดเป็น 50 % ของคะแนน TGAT น้อง ๆ ก็จะได้ค่าน้ำหนักที่จะยื่นคณะนี้ 25 % จาก 50 % เต็มของค่าน้ำหนัก
วิธีการคำนวนคะแนน ให้น้อง ๆ นำคะแนนสอบน้อง ๆ ที่ได้ ไปคูณกับสัดส่วนที่ได้ โดยจะต้องแปลงค่าจากเปอร์เซนต์ก่อน เช่น 50% ก็เอา จำนวนสัดส่วน ÷ 100 x คะแนนที่เราได้ = สัดส่วนค่าน้ำหนักที่เราได้คณะนี้ คิดง่าย ๆ กว่านั้นก็แค่เอา 0. ไปไว้หน้าสัดส่วนค่าน้ำหนัก เช่นค่าน้ำหนัก 50% ก็เป็น 0.5 x 100 เป็นต้น
หรือถ้าในกรณีที่คณะ/สาขาที่น้อง ๆ สมัคร เอา GPAX มาเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก เช่น ระบุว่าใช้ GPAX 20%
วิธีการคำนวณ เอาเกรดเฉลี่ยที่เรามีไป x กับ 25 เพื่อแปลงเป็นฐาน100 เช่น เราได้เกรดเฉลี่ย 3.50 ก็จะเป็น 3.5 x 25 = 87.50 จากนั้นนำผลที่ได้ไป x กับสัดส่วนที่ใช้(สัดส่วนแปลงเป็นเปอร์เซนต์แล้ว) เช่นค่าน้ำหนัก 20% ก็เป็น 87.50 x 0.2 เป็นต้น
**สรุป เกณฑ์คะแนนคัดเลือกคือคะแนนที่น้อง ๆ ต้องนำไปใช้ในการคัดเลือกโดยจะมีค่าน้ำหนักและสัดส่วนที่ต้องใช้ระบุไว้ในระเบียบการ
.
3.เข้าใจเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ
เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น้อง ๆ ต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะในทุกปีจะมีน้อง ๆ ที่สับสนระหว่าง เกณฑ์ค่าน้ำหนัก/สัดส่วน กับ เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ โดยเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ คือเกณฑ์ค่าน้ำหนัก/สัดส่วน ที่ถูกระบุไว้ว่าจะต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ ถึงจะสามารถยื่นสมัครได้
ถ้าน้อง ๆ มีคะแนนค่าน้ำหนัก/สัดส่วน ที่ใช้ในการคัดเลือก แต่ !! ไม่ถึงเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่ทางคณะ/สาขาระบุไว้ในระเบียบการ น้อง ๆ ก็จะไม่สามารถสมัครได้ ถึงยื่นไปคิดว่าลักไก่ได้ ยังไงก็ไม่ติดนะครับ เพราะถือว่าผิดคุณสมบัติ ยังไงก็จะไม่ได้รับพิจารณาให้เข้าศึกษา
**สรุปก็คือเกณฑ์สัดส่วน/ค่าน้ำหนัก คือน้องๆ จะมีคะแนนเท่าไหร่ก็ยื่นสมัครได้ ขอแค่มีวิชาที่ใช้ให้ครบตามที่ระเบียบการระบุ แต่เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ คือน้อง ๆ ต้องมีคะแนนในวิชานั้น ๆ อย่างน้อยต่ำสุดตามที่ระเบียบการกำหนด ยกตัวอย่างเช่น
คณะเอ มหาวิทยาลัยบี มีเกณฑ์คัดเลือกดังนี้
TGAT 50 % (มีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50%)
คณะนี้ใช้เกณฑ์สัดส่วน/ค่าน้ำหนัก TGAT 50% แต่ระบุไว้ว่าต้องเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50% หมายความว่าถ้าน้อง ๆ ไม่สามารถทำคะแนน TGAT ถึง 50% น้อง ๆ ก็จะไม่สามารถยื่นสมัครคณะนี้ได้ โดยวิธีการคิดคะแนนขั้นต่ำคือนำคะแนนเต็มของวิชาไปคูณกับ % เกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้
ยกตัวอย่าง TGAT คะแนนเต็ม 100 คะแนน คณะนี้กำหนดขั้นต่ำไว้ 50%
ก็เอา 100 x 50% = 50 คะแนน นั่นหมายความว่าน้อง ๆ ต้องมีคะแนน TGAT1 ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน ถึงจะยื่นสมัครในคณะนี้ได้

.
4.เข้าใจแนวโน้มคะแนน
อีกสิ่งที่เด็กทุกยุคเครียดและกังวลกับคะแนนสอบคือ “คะแนนเฟ้อ” โดยส่วนใหญ่จะได้การรับรู้แบบว่า “เค้าบอกว่า” “เค้าบอกมา” ซึ่งที่จริงแล้ว น้อง ๆ สามารถเช็กได้เองเลย จากข้อมูลและสถิติที่ ทปอ. ประกาศออกมาพร้อมกับคะแนนของน้อง ๆ ทุกปี นั่นคือค่าสถิติพื้นฐาน และสถิติจำนวนคนตามช่วงคะแนน (ดูได้ที่ คลิก )
น้อง ๆ สามารถดูได้จากค่าเฉลี่ย หรือ Mean ว่าทั่วประเทศในปีนี้มีค่าเฉลี่ยเท่าไหร่ แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน เพิ่มมากขึ้นหรือน้อยขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างคือสถิติจำนวนคนตามช่วงคะแนน ว่าในปีนี้มีคนส่วนใหญ่สอบได้คะแนนในช่วงไหน มากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งถ้าน้อง ๆ ดูสถิติตรงนี้ก็จะพอเห็นภาพครับว่าในภาพรวมคะแนนในปีนี้เฟ้อขึ้นหรือไม่ เป็นดาต้าที่เราจะไม่ต้องดราม่าเลย
แต่ต้องย้ำนะครับว่าสถิติตรงนี้เป็นการดูในภาพรวม การจะวิเคราะห์ลงลึกไปอีกว่าคะแนนในคณะต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบกันเพิ่มเติมอีกครั้งครับ (พี่แฮนด์จะไว้มาเขียนในบทความต่อ ๆ ไปนะครับ)
.
นี่ก็คือ 4 ข้อสำคัญ ที่พี่แฮนด์อยากให้น้อง ๆ ทำความเข้าใจให้ดีในการคำนวณคะแนนและการนำคะแนนไปใช้ยื่นในการสมัครคัดเลือกมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สิ่งสำคัญทีสุดคือ “ความถูกต้อง” นะครับ ก่อนยื่นสมัครทุกครั้งเช็กให้ดีมีคะแนนครบมั้ย เกณฑ์ขั้นต่ำมีมั้ย ผ่านหรือเปล่า เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวหรือเสียดายตอนหลังครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *