ม.ธรรมศาสตร์ เปิด 4 ปมเฝ้าระวัง เหตุหลักถนนกรุงเทพ – โครงสร้างอาคารทรุด แนะใช้ AI เฝ้าระวังความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ พร้อมหนุนปั้นวิศวกรกลุ่มเอ็กซ์เปิร์ต เติมเต็มงานระบบโครงสร้างประเทศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยสาเหตุสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารและถนนในกรุงเทพฯ โดยมี 4 ประเด็นหลักที่ควรเฝ้าระวังและหาแนวทางแก้ไขคือ 1. ความซับซ้อนทางธรณีวิทยา 2. การจัดการและประสานงานระหว่างหน่วยงาน 3. ปัญหาการจัดการจราจรที่หนาแน่น และ 4. การขาดการบำรุงรักษา นอกจากนี้ยังแนะการสร้างความเชื่อมั่นทางวิศวกรรมที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี AI  การวางแนวทางการออกแบบโครงสร้างที่คำนึงถึงสภาพธรณีวิทยา และใช้วัสดุที่มีมาตรฐานสูง ทั้งนี้ มธ.ยังมุ่งเดินหน้าเป็นสะพานเชื่อมทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านงานวิศวกรรม ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนงานวิจัย การช่วยวางแผนเชิงระบบ ตลอดจนสร้างกลุ่มบุคลากรระดับเชี่ยวชาญเพื่อลดการขาดแคลนในส่วนงานด้านดังกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรภาพ แก้วสวัสดิ์วงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์อาคารหรือถนนถล่มในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะหน้าหรืออุบัติเหตุแบบสุ่ม แต่สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างเชิงระบบที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยตลอดหลายปีพบว่าโครงสร้างถนนและอาคารในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่ลักษณะทางธรณีวิทยา ดินอ่อนที่ทรุดตัวง่าย ไปจนถึงการบริหารจัดการโครงการที่ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยซับซ้อนหลายประการ ได้แก่

  •  ‘ธรณีวิทยา’ ความซับซ้อนของพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรคแรกเริ่ม พื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเป็นดินเหนียวอ่อนที่มีคุณสมบัติทรุดตัวได้ง่าย หรือที่เรียกว่า “ดินเหนียวอ่อนกรุงเทพ” มีความหนาแน่นต่ำ มีองค์ประกอบเป็นน้ำเยอะ ไม่สามารถรองรับน้ำหนักมากได้ดี และเกิดการทรุดตัวได้ง่ายหลังรับน้ำหนัก แม้โครงสร้างตึกอาคาร หรือถนนจะถูกออกแบบและสร้างมาตามมาตรฐาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดินที่อ่อนตัวนั้น ย่อมทำให้โครงสร้างเกิดการทรุดตัว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณีถนนพระราม 2 ซึ่งเผชิญปัญหาดินทรุดบ่อยครั้งจนต้องปิดถนนเพื่อซ่อมแซมบ่อย การแก้ปัญหาในพื้นที่ลักษณะนี้ต้องใช้วิธีการพิเศษ เช่น การฉีดซีเมนต์ลงในดินเพื่อเสริมความแข็งแรง อีกทั้ง การสูบน้ำบาดาลในอดีตยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้ดินยุบตัวในหลายพื้นที่ แม้ว่าจะมีการควบคุมในช่วงหลัง แต่ผลกระทบสะสมจากการสูบน้ำเป็นเวลาหลายสิบปีได้สร้างปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
  • ปัญหาด้านการจัดการและประสานงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างถนนหรือตึกอาคารในกรุงเทพฯ ต้องผ่านกระบวนการอนุมัติจากหลายฝ่าย ตั้งแต่การศึกษา EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ไปจนถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมถึงการประสานกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่ซับซ้อนและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อจำกัด เช่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเอกชนที่ดูแลระบบสาธารณูปโภค การประสานงานที่ไม่ราบรื่นและไม่มีประสิทธิภาพส่งผลให้เกิดความล่าช้าในหลายโครงการ
  • ปัญหาการจัดการจราจรที่หนาแน่น ถนนหลายเส้นในกรุงเทพฯ เป็นเส้นทางสำคัญที่มีการใช้งานตลอดเวลา มีการจราจรหนาแน่น ทำให้การปิดถนนเพื่อก่อสร้างเป็นเรื่องท้าทาย และจำเป็นต้องวางแผนให้รัดกุมเพื่อไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งการก่อสร้างหรือซ่อมแซมหลาย ๆ พื้นที่ จะมีการเคลื่อนย้ายวัสดุและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง เช่นทาวเวอร์เครน และวัสดุก่อสร้างอย่างเช่นเหล็กหรือคอนกรีต จึงมักต้องดำเนินการในช่วงเวลากลางคืนเพื่อลดผลกระทบ แต่ก็ส่งผลให้กระบวนการก่อสร้างล่าช้าออกไปอีก
  • การขาดการบำรุงรักษาและความประมาทระหว่างการก่อสร้างทำให้มีความเสี่ยงสะสมที่รอวันพังเสียหาย ซึ่งจากการเก็บสถิติการตรวจสอบและบำรุงรักษาอาคารและโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ ยังไม่เพียงพอ หลายโครงสร้างถูกละเลยเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้ส่วนประกอบบางส่วนเสื่อมสภาพโดยไม่มีการแก้ไข จากในกรณีสะพานหรือถนนที่ทรุดตัวและพังลง การซ่อมแซมมักมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขเฉพาะหน้ามากกว่าการปรับปรุงเชิงโครงสร้างอย่างถาวร สิ่งนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการถล่มได้อีก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น

“ถนนพระราม 2 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาการก่อสร้างถนนในกรุงเทพฯ ที่สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้ถนนมาอย่างยาวนาน โครงการปรับปรุงและขยายช่องทางการจราจรบนถนนสายนี้เริ่มต้นเมื่อหลายปีก่อน แต่การก่อสร้างกลับล่าช้า เนื่องจากปัญหาหลายด้าน เช่น การประสานงานที่ไม่ต่อเนื่องกับหน่วยงานต่าง ๆ และปัญหาด้านการบริหารจัดการผู้รับเหมาและความประมาทระหว่างการก่อสร้าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักเนื่องจากการก่อสร้างที่ล่าช้า รวมถึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในบริเวณที่มีการก่อสร้าง”

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรภาพ ยังได้กล่าวถึงมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเชิงวิศวกรรมแก่ประชาชน ที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม คือ 1. ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโครงสร้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างถนน สะพาน และอาคารอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติการทรุดตัวเยอะ เช่น พื้นที่โซนล่างกรุงเทพมหานคร 2. พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยง โดยใช้เทคฯ AI  มาช่วย อาทิ การใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนในการเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอเพื่อการประเมินสภาพของสะพานและโครงสร้างต่างๆ รวมถึงใช้ AI ในการตรวจสอบหารอยแตกในโครงสร้างจากภาพถ่ายของโดรนสำหรับใช้ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาแต่เนิ่น ๆ พร้อมวิเคราะห์หาสาเหตุเบื้องต้นแบบเรียลไทม์ การติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับการทรุดตัวหรือการสั่นสะเทือนในโครงสร้างสำคัญ เพื่อแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง 3. ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างและการออกแบบ โดยวางแนวทางการออกแบบโครงสร้างที่คำนึงถึงสภาพธรณีวิทยา และใช้วัสดุที่มีมาตรฐานสูงเพื่อลดปัญหาการทรุดตัวของดินเหนียวอ่อน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนและสะพาน 4.จัดทำแผนบำรุงรักษาระยะยาว โดยสร้างระบบการบำรุงรักษาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเชิงรุก แทนที่จะรอให้เกิดความเสียหายก่อนจึงดำเนินการ 5. สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางที่มีความเสี่ยง พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ถนนที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ การทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการคมนาคม ต้องเริ่มจากความโปร่งใสของโครงการ ให้ความสำคัญกับการรายงานความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ และการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ เพื่อสร้างความไว้วางใจในกระบวนการก่อสร้าง การอัปเดตข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชันจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและปรับตัวได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการคัดเลือกผู้รับเหมาอย่างโปร่งใสและให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา จะช่วยลดปัญหาการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือโครงการล่าช้าได้ และที่สำคัญกรุงเทพฯควรพัฒนาโครงข่ายการขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและตรงต่อเวลาให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีในการลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาการเรียนการสอนและงานวิจัยทางด้านวิศวกรรมโยธา จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนทำความร่วมมือทางการวิจัยกับหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาสามารถพัฒนาความรู้เชิงวิชาการและวิจัย และสามารถนำองค์ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศที่ต้องการเทคโนโลยีในระดับสูงได้จริง นอกจากนี้ ยังจะทำหน้าที่เป็น ‘สะพานเชื่อม’ ทุกภาคส่วนด้วยการสนับสนุนงานวิจัย การวางแผนเชิงระบบ และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโครงสร้างในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ รองศาสตราจารย์ดร.สุรภาพ กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *