การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ใช้พลังงานสูงและปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับแนวโน้มพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปี 2564 และหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การท่องเที่ยวจึงควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แนวทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นคือ การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) ซึ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยเฉพาะจากการขนส่ง โรงแรม และกิจกรรมต่าง ๆ ในจุดหมายปลายทาง การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำจึงกลายเป็นแนวทางสำคัญในการลดผลกระทบเหล่านี้ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)  การใช้พลังงานทดแทน ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ และการเดินทางในระยะใกล้ ล้วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหมู่นักท่องเที่ยว

รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี พ.ศ. 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2555-2593) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (BCG Model) รวมถึงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2% ต่อปี และเพิ่มมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล (GSTC) 30% ภายในปี 2570 โครงการต่าง ๆ เช่น “Eco-friendly Transport” และโครงการ “7 Greens” ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี พ.ศ. 2593 

แม้ว่า “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” จะเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นทางเลือกสำคัญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สามารถลดปัญหาโลกร้อนสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจในการพัฒนารวมทั้งประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตามจุดหมายปลายทางหลายแห่งยังคงไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และยังไม่ได้รับการแปลความในเรื่องของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอย่างถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างกว้างขวางและอาจมีอุปสรรคหลายอย่าง  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นจึงพัฒนากลยุทธ์เพื่อลดอุปสรรคเหล่านั้นให้เหลือน้อยลงหรือหมดสิ้นไป จากการศึกษางานวิจัยเรื่อง “Exploring Barriers to Low Carbon Tourism Development in Thailand: A Supply-Side Perspective” (Pantaratorn, P. et al, 2023) ได้เสนอแบบจำลอง BLTD (Barriers to Low Carbon Tourism Development) ซึ่งแบ่งอุปสรรคในการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในประเทศไทยออกเป็น 3 มิติหลัก ดังนี้

  1. อุปสรรคที่เกี่ยวกับข้อจำกัดของโครงสร้าง (Structure Constraints) ประกอบด้วย ขาดธุรกิจบริการที่เป็นลักษณะคาร์บอนต่ำที่เพียงพอ งบประมาณจำกัดในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนยังไม่เพียงพอ การขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และขาดแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นที่เป็นศูนย์กลางด้านฐานข้อมูลการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
  2. อุปสรรคที่เกี่ยวกับข้อจำกัดภายในตัวบุคคล  (Intrapersonal Constraints) ประกอบด้วย การขาดความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ไม่มีแผนงานหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในองค์กร การทำงานไม่ต่อเนื่องและขาดการติดตามผล 
  3. อุปสรรคที่เกี่ยวกับข้อจำกัดระหว่างตัวบุคคล (Interpersonal Constraints) ประกอบด้วย ปัญหาการสื่อสารและภาษาระหว่างหน่วยงาน ความไม่พร้อมขององค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่วมมือพัฒนา ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของภาคส่วนต่าง ๆ และการขาดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

แม้ว่าการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่การนำไปปฏิบัติยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อุปสรรคที่เกี่ยวกับข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย หน่วยงานรัฐบาล สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องมีแนวทางแบบองค์รวม ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทางการเงินและนโยบายเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง ในอนาคตการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำควรถูกบูรณาการเข้ากับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น พร้อมทั้งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน จะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *