พร้อมซัปพอร์ต ‘ทวิภาคี EEC Model Type A’ สอศ.จับมือ 56 สถานประกอบการ ผลิตช่างฝีมือสมรรถนะสูงป้อนอีอีซี

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มอบหมายให้ นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานในพิธีลงนามความร่วมมือและมอบโล่เชิดชูเกียรติ หน่วยงานและสถานประกอบการความร่วมมือในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสมรรถนะสูง รูปแบบ EEC Model Type A และความร่วมมือการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทวิภาคี รูปแบบทวิวุฒิ (ไทย-จีน) จำนวนทั้งสิ้น 56 สถานประกอบการและเยี่ยมชมกระบวนการฝึกอบรมผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสมรรถนะสูง รูปแบบ EEC Model Type A ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง ณ วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จ.ระยอง

 

นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสมรรถนะสูง รูปแบบ EEC Model Type A คือ รูปแบบการจัดการศึกษาที่เน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะสูง โดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการในพื้นที่ EEC มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การดำเนินการจะเน้นการเรียนรู้แบบ Work-based Learning โดยผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการควบคู่กับการเรียนทฤษฎีในสถานศึกษา ภายใต้หลักสูตรที่พัฒนาร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ

รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า การทำความร่วมมือกับหน่วยงานและสถานประกอบการในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสมรรถนะสูง รูปแบบ EEC Model Type A และความร่วมมือการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทวิภาคี รูปแบบทวิวุฒิ (ไทย-จีน) จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูงตามมาตรฐานสากล โดยผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมทั้งได้รับวุฒิการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการทำงานและการพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ

 

รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย มีแผนขยายการจัดการศึกษาทวิภาคี EEC Model จากเดิมที่มีประมาณ 3 สาขา ให้เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 สาขา และพัฒนาไปจนถึง 14 สาขาที่เปิดสอน เพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคน นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบ Partnership Corporation ที่จะให้สถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษามากกว่าความร่วมมือในระบบทวิภาคีทั่วไป โดยจะร่วมกันออกแบบการพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต พัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และการฝึกประสบการณ์ของนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการอาชีวศึกษาไทย โดยในปีการศึกษา 2568 คาดว่าจะสามารถผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะสูงป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในพื้นที่ EEC ได้กว่า 1,000 คน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *