TK Park ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน-นักสร้างสรรค์ ปั้นโคราชสู่เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลุยสร้างระบบนิเวศซอฟต์พาวเวอร์ หนุนทุน-องค์ความรู้-ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ พร้อมถอดรหัสความสำเร็จ “กางเกงแมวโคราช” ต้นแบบให้ท้องถิ่นต่อยอด
สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และนักสร้างสรรค์ เดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ดันโคราชสู่เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ย้ำต้องสร้างระบบนิเวศซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่ง ทั้งด้านเงินทุน องค์ความรู้ พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ และสร้างโอกาสต่อยอดสู่สากล ชูเทศกาลการเรียนรู้นครราชสีมา Learning Fest Korat 2025 เวทีแห่งโอกาส จุดประกายให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปต่อยอด ยกโมเดลความสำเร็จ “กางเกงแมวโคราช” เป็นแนวทางให้พื้นที่อื่นนำไปปรับใช้และต่อยอด พร้อมเดินหน้าขยายเทศกาลการเรียนรู้ Learning Fest ไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านทุนวัฒนธรรมเพื่อร่วมขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) กล่าวว่า TK Park มุ่งมั่นสร้าง “พื้นที่แห่งโอกาส” ที่เปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด “การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์” ที่เข้าถึงง่าย สนุก และสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน หนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ การจัดเทศกาลการเรียนรู้นครราชสีมา Learning Fest Korat 2025 เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับอัตลักษณ์ท้องถิ่น จุดประกายให้ประชาชนเห็นคุณค่าของทุนวัฒนธรรม ซอฟต์พาวเวอร์ และมองเห็นศักยภาพพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือคอนเทนต์สร้างสรรค์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนออกมาได้อย่างมีคุณค่า น่าสนใจ และต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้
“เทศกาลการเรียนรู้นครราชสีมา Learning Fest Korat 2025 ช่วยส่งต่อความรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งจะช่วยให้ผู้มาร่วมงานสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะ และแรงบันดาลใจไปพัฒนาต่อยอดได้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถนำแนวคิดเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ไปพัฒนาสินค้าและบริการ ศิลปินและนักสร้างสรรค์ สามารถใช้เวทีเทศกาลการเรียนรู้นครราชสีมา Learning Fest Korat 2025 นำเสนอผลงานและสร้างความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ ชุมชนท้องถิ่น สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของตนเอง เยาวชนและคนรุ่นใหม่ สามารถใช้พื้นที่และโอกาสที่ได้รับจากงานนี้ไปพัฒนาทักษะและสร้างเครือข่าย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนโคราชให้กลายเป็นเมืองต้นแบบของการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และพัฒนาเมือง และในอนาคต TK Park ยังพร้อมเดินหน้าขยายกิจกรรมเทศกาลการเรียนรู้ Learning Fest ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละท้องถิ่นได้แสดงศักยภาพ นำเสนอจุดแข็ง พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของตนเอง และต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และพัฒนาท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นายวัฒนชัย กล่าว
ด้าน นายจิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนากางเกงแมวโคราชจนโด่งดังและเป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลกว่า เริ่มต้นมาจากทาง YEC มีแนวคิดในการผลักดันโคราชให้เป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์จังหวัดให้เป็นที่รับรู้และจดจำ นอกเหนือจากแค่เขาใหญ่หรือย่าโม โครงการ “โคราชโมโนแกรม” จึงเกิดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมออกแบบสัญลักษณ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของโคราช โดยลวดลายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมีสัญลักษณ์แมวสีสวาด ซึ่งเป็นแมวมงคลที่มีต้นกำเนิดจากโคราชรวมอยู่ด้วย และได้นำไปทำ “กางเกงแมวโคราช” ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากกางเกงช้าง และเปิดตัวครั้งแรกในงาน “มามูย่า” ซึ่งขายดีจนเกิดกระแสไวรัลไปทั่วประเทศ
จากกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นจึงเกิดความคิดว่าจะผลักดันกางเกงแมวโคราชให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยและเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในระดับโลกได้อย่างไร จึงได้ไปเจรจากับ Garena บริษัทเกมระดับโลกซึ่งประสบความสำเร็จ ทำให้กางเกงแมวโคราชได้เข้าไปเป็นไอเทมพิเศษในเกม Free Fire ซึ่งมีผู้เล่นกว่า 568 ล้านคน จากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก จากนั้นก็ต่อยอดไปสู่สินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อาร์ตทอย “เจ้าเมื่อย” ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแมวโคราชโดยออกแบบให้มีความร่วมสมัย สอดแทรกความเชื่อด้านความเป็นแมวนำโชค ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักสะสมและสายมู
นายจิรพิสิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ประสบความสำเร็จ สามารถแข่งขันและสร้างมูลค่าในระดับโลกได้ จำเป็นต้องมีระบบนิเวศซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งเอื้อต่อการสร้างสรรค์และพัฒนาไอเดียใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น 1. การสนับสนุนด้านเงินทุน 2. องค์ความรู้ที่ช่วยต่อยอดพัฒนาแนวคิดให้สามารถแข่งขันได้ 3. การรู้จักและเข้าใจศักยภาพของเมืองอย่างแท้จริง เห็นคุณค่าและดึงจุดแข็งมาผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ 4. เครื่องมือและกลไกสนับสนุนในการเปลี่ยนไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์หรือคอนเทนต์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และที่สำคัญ 5.ต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพ
เทศกาลการเรียนรู้นครราชสีมา Learning Fest Korat 2025 เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการเสริมสร้างระบบนิเวศซอฟต์พาวเวอร์ให้แข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ศิลปิน นักคิด นักสร้างสรรค์ และคนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ จุดประกายแนวคิดใหม่ ๆ เชื่อมโยงเครือข่ายของคนที่มีแนวคิดและวิสัยทัศน์เดียวกัน ร่วมกันผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพัฒนาโคราชให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล
นอกจากนี้ นายจิรพิสิษฐ์ยังได้แนะแนวทางเพิ่มเติมว่าหากต้องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับกางเกงแมวโคราช ต้องเริ่มจากการค้นหาอัตลักษณ์ของเมืองที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรขึ้นมาใหม่ แค่รู้จักต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม เปิดโอกาสให้คนในเมืองมีส่วนร่วม ตั้งแต่การออกแบบแนวคิดไปจนถึงการผลิต สร้างตราสินค้าหรือสัญลักษณ์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นร่วมเป็นเจ้าของและนำไปใช้ได้ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้และจดจำ พร้อมมองหาช่องทางและโอกาสต่อยอดสู่เวทีโลกและสุดท้ายที่สำคัญที่สุดทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันส่งเสริมและผลักดัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน เช่นเดียวกับที่กางเกงแมวโคราชไปอยู่ในไอเทมเกมระดับโลกได้ เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุน
ในขณะที่ นายพสธร วัชรพาณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ มันดาลา (Rivulet of Universe) ภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือกจาก IFFR – International Film Festival Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ รอบปฐมทัศน์ World Premiere ให้เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม และปัจจุบันเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของ KCCA (Korat Creative Content Agency หรือ สนง.ส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์โคราช) กล่าวว่า โคราชเป็นเมืองที่เหมาะแก่การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เพราะมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่นมากมาย แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากนักซึ่งจากความสำเร็จของภาพยนตร์ “มันดาลา” พิสูจน์ให้เห็นว่า หากอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้รับการถ่ายทอดอย่างน่าสนใจ ก็สามารถกลายเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้คนรู้จักและสร้างความสนใจในเวทีระดับโลกได้
นายพสธร กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ถึงแม้โคราชจะมีศักยภาพด้านซอฟต์พาวเวอร์ แต่ปัจจุบันยังขาด “พื้นที่” ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงออก และพัฒนาฝีมือ การมีเทศกาลอย่างเทศกาลการเรียนรู้นครราชสีมา Learning Fest Korat 2025 นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโคราช โดยเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ ศิลปิน คนทำหนัง คนทำคอนเทนต์ และนักสร้างสรรค์ ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนไอเดีย และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ร่วมกัน เชื่อว่าถ้ามีกิจกรรมหรือพื้นที่แบบนี้มากขึ้น และได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โคราชอาจกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของวงการภาพยนตร์และคอนเทนต์สร้างสรรค์ของภาคอีสานในอนาคต
“ปัจจุบันผมพยายามสร้างกลุ่มคนทำหนังกลุ่มเล็ก ๆ ในพิมาย โดยเข้าไปร่วมกับกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่สนใจมีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการทำภาพยนตร์อย่างจริงจัง จนเด็ก ๆ หลายคนสามารถนำผลงานไปประกวด ได้รางวัล และมีโอกาสไปต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีน้องในกลุ่มสอบติดมหาวิทยาลัยโดยใช้พอร์ตโฟลิโอจากงานภาพยนตร์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผมภูมิใจและรู้สึกว่าเป็นความสุขที่ยั่งยืนที่ช่วยทำให้คนมีโอกาสและมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น และในอนาคตผมหวังจะได้เห็นคนรุ่นใหม่หยิบกล้องขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวบ้านเกิดผ่านมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือซอฟต์พาวเวอร์จะมีชีวิตและส่งต่อได้ ก็ต้องเริ่มจากคนในพื้นที่เองที่ให้ความสำคัญ ผมไม่คาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ผมพยายามทำในวันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับอนาคต” นายพสธร กล่าวปิดท้าย