ประเทศไทย เจ้าภาพจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสพระชนมายุครบ 70 พรรษา
เนื่องจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 – ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 (The 21st International Geography Olympiad – iGeo 2025) ซึ่งจะ
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2568 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมีเยาวชนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ผู้ทรงริเริ่มภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับสากล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. กล่าวว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยและเยาวชนทั่วโลกตระหนักในความสำคัญของภูมิศาสตร์ในการพัฒนาโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงและ ศักยภาพด้านวิชาการของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในระดับโรงเรียน
รองศาสตราจารย์ผ่องศรี จั่นห้าว ประธานคณะกรรมการวิชาภูมิศาสตร์ มูลนิธิ สอวน.
ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของประเทศไทยว่า การเริ่มต้นของการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2555 เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าทรงเสด็จและกล่าวปาฐกถาที่งาน International Geography Conference ณ มหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิ สอวน. ศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันด้านภูมิศาสตร์ มูลนิธิ สอวน. ได้จัดตั้งศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกรวม 15 แห่งทั่วประเทศ (7 ศูนย์มหาวิทยาลัยและ8 ศูนย์โรงเรียน) เพื่อเป็นสนามสอบและค่ายอบรมคัดเลือกผู้แทนไปแข่งขันในระดับนานาชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 ในปี ซึ่งภาควิชาภูมิศาสตร์เป็นภาควิชาหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ ที่มีความแข็งแกร่งทางวิชาการ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังสำคัญของคณะอักษรศาสตร์ โดยภาควิชาภูมิศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. รับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ยกเว้นโรงเรียนที่เป็นศูนย์ฯ ในการอบรมและคัดเลือกผู้แทนศูนย์ไปแข่งขันในระดับชาติ โดยนักเรียนจากศูนย์ฯ จุฬาฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศ เพื่อไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. 2566 จำนวน 2 คน และ พ.ศ. 2567 จำนวน 1 คนจากผู้แทนประเทศไทยปีละ 4 คน ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปสู่ระดับนานาชาติ
สำหรับรายละเอียดการจัดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา ดวงยิหวา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศนั้น เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย โดยการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศจะจัดให้มีขึ้นในช่วงวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 1 สิงหาคม พ.ศ. 2568 โดยได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเช้าวันอาทิตย์ที่
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากประมาณ 50 ประเทศ โดยมีรูปแบบการแข่งขันและกิจกรรมเสริมการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักได้แก่ การสอบข้อเขียน การสอบภาคสนาม และ การสอบมัลติมีเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ ได้แก่ การจัดนิทรรศการโปสเตอร์ของแต่ละประเทศ การทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของประเทศไทย เช่น การเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานธรณีโคราชและแหล่งมรดกโลกศรีเทพ และการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่จังหวัดน่าน