ไทย จ่อขยับอันดับการศึกษา หลังอัตราการรู้หนังสือของประชากร พุ่งสูง 98.83% จากการสำรวจอัตราการรู้หนังสือของประชากร

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในงานแถลงผลการสำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทย ปี 2568 โดยมี นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เข้าร่วม

ไทย จ่อขยับอันดับการศึกษา หลังอัตราการรู้หนังสือของประชากร พุ่งสูง 98.83% จากการสำรวจอัตราการรู้หนังสือของประชากร

นายประวิต กล่าวว่า ผลสำรวจการรู้หนังสือของประชากรมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมากเพราะการจัดอันดับความสามารถด้านการศึกษาของประเทศในระดับสากลจะนำอัตราการรู้หนังสือนี้มาใช้วัดทั้งเรื่องของคุณภาพการศึกษาไปจนถึงความเหลื่อมล้ำของประเทศที่วัด โดยประเทศไทยมีการเก็บผลสำรวจอัตราการรู้หนังสือของประชากรไว้ล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2561 และได้มีการเก็บผลสำรวจใหม่อีกครั้งในปีนี้ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากจึงมอบหมายให้ทางสกศ.กับสกร.ทำงานร่วมกันเพื่อเก็บผลสำรวจมาพัฒนาคุณภาพการศึกษา

“เนื่องจากทางสกร.มีครูในสังกัดที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ประเทศไทยจึงช่วยให้การดำเนินการเก็บผลสำรวจของประชากรในทุกพื้นที่เป็นไปอย่างราบรื่น โดยการเก็บผลสำรวจจะใช้แบบสำรวจการอ่านของประชากรที่พัฒนาโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทำให้ผลสำรวจที่ได้รับมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ขณะเดียวกันยังเชิญผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานอื่นๆมาช่วยกันดูแบบสำรวจดังกล่าวอีกด้วย และได้มีการประชุมชี้แจงวิธีการเก็บผลสำรวจให้กับบุคลากรของสกร.ในการดำเนินการต่อไป หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการสุ่มตัวอย่างจาก 7,429 ตำบล กระจายตามสัดส่วนครัวเรือน ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมประมาณ 225,963 ครัวเรือน คิดเป็น จำนวนประชากรทั้งสิ้น 533,024 คน”นายประวิต กล่าว

นายประวิต กล่าวต่อว่า สำหรับนิยามของคำว่า ผู้ไม่รู้หนังสือ คือ ผู้ที่อ่านไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ และคิดเลขไม่เป็น ซึ่งเป็นความหมายตามนิยามขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก โดยในปัจจุบันผลสำรวจอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทย อายุ 15 ขึ้นไป เท่ากับร้อยละ 1.17 และอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทย อายุ 7 ปีขึ้นไป เท่ากับร้อยละ 1.16 ส่งผลให้อัตราการรู้หนังสือของประเทศไทยสูงขึ้นจากเดิมที่ 94 เป็นร้อยละ 98.83 ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่มีการเก็บผลสำรวจประเทศสมาชิกอาเซียนในปี พ.ศ.2565 ที่ในตอนนั้นประเทศสมาชิกอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย จะมีอัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ร้อยละ 98 ทำให้เมื่อนำข้อมูลของประเทศไทยในปัจจุบันมาเทียบกับข้อมูลล่าสุดจะพบว่าประเทศไทยก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน อย่างไรก็ตามต้องดูว่าข้อมูลของแต่ละประเทศนั้นสำรวจในปีไหนด้วยเช่นกัน

“หากจำแนกเป็นอัตราการไม่รู้หนังสือตามระดับการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษามีจำนวนร้อยละ 35.73 กลุ่มก่อนประถมศึกษามีจำนวนร้อยละ 4.72 และกลุ่มประถมศึกษามีจำนวนร้อยละ 0.8 ซึ่งในกลุ่มประถมศึกษาจะรวมไปถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาด้วยเช่นกันอัตราการไม่รู้หนังสือหากจำแนกตามจังหวัดจะพบว่ากว่า 51 จังหวัดนั้นมีตัวเลขที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการศึกษาสามารถกระจายไปได้ในหลายพื้นที่ได้ดี และอัตราการไม่รู้หนังสือระหว่าง ร้อยละ 1 – 5 จะมีอยู่ 25 จังหวัด ส่วนอัตราการไม่รู้หนังสือที่มากกว่าร้อยละ 10 มีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนจังหวัดเดียว และเมื่อนำอัตราการรู้หนังสือดังกล่าวไปเทียบเทียบในระดับนานาชาติ โดยใช้การ จัดอันดับ IMD ในการพิจารณาจะพบว่า อันดับของอัตราการไม่รู้หนังสือของประเทศไทยจะขยับจากอันดับที่ 59 ไปอยู่ที่อันดับ 37 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก”นายประวิต กล่าว

นายประวิต กล่าวต่อว่า สำหรับข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจมีทั้งหมด 4 อย่าง คือ 1. ภาวะการลืมหนังสือ การอ่านน้อยลง หรือการถดถอยของทักษะในการอ่านในผู้สูงอายุและ กลุ่มที่ไมมีงานทำ มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเปนภัยเงียบททำใหคุณภาพการอ่านของคนไทยลดน้อยลง 2.ปัจจัยที่กระตุ้นใหเกิดการรู้หนังสือมากขึ้น คือ แรงขับจากการต้องการมีงานทำ จะกระตุ้นให้คนเกิด การพัฒนาตนเองให้มีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอุตสาหกรรม 3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อคณภาพในการรู้หนังสือของผู้เรียน พบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว 4. สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการรู้หนังสือ และป้องกันภาวะการลืมหนังสือ คือ การกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มกัน ตามความสนใจ และกลุ่มอายุ อาทิ ชมรมผู้สงอายุ จะเกิดพัฒนาตนเองกันระหว่างกลุ่ม

“สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเสนอต่อสภาการศึกษาและการประชุมผู้บริหารศธ. มีดังนี้ 1.การเพิ่มอัตราการรู้หนังสือในกล่มผู้สูงอายเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างการเรียนรู้ผ่านการรู้หนังสืออย่างมีส่วนร่วมจะช่วยทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นคงในชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนสูงวัย 2.การส่งเสริมการรู้หนังสือที่เพิ่มมากขึ้นต้องสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามความสนใจและต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเน้นด้านอาชีพเพิ่มมากขึ้น 3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการอ่านที่มากขึ้น รวมทั้งการจัดทำสื่อที่ทันสมัยและน่าสนใจ จะช่วยทำให้ประชากรในทุกช่วงวัยได้มีโอกาสพัฒนากาการอ่านได้ดีมากยิ่งขึ้น 4.การส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานมีงานทำเป็นอีกหนึ่งกลใกที่ช่วงส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะการลืมหนังสือได้มีการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีมากยิ่งขึ้น” นายประวิต กล่าว

นายประวิต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการสำรวจการรู้หนังสือของคนไทย จะเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และสังเคราะห์การพัฒนาการศึกษาเพื่อประกอบการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การศึกษา และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศ รวมถึง สกศ. ได้หารือ UNESCO และส่งผลข้อมูลนี้ซึ่งมีความเป็นปัจจุบันไปใช้ในการจัดอันดับระดับนานาชาติได้อย่างแม่นยำและสะท้อนคุณภาพการศึกษาไทยได้อย่างแท้จริง

ด้าน นายธนากร กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินงานของสกร.เดิมทีสกร.ได้เคยสร้างที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านไว้ตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศประมาณ 54,000 แห่ง ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีของผู้สูงวัย ก่อนที่จะส่งต่อโครงการนี้ให้กับท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลตามพ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แต่เมื่อเปลี่ยนหน่วยงานผู้รับผิดชอบทำให้ไม่มีการขับเคลื่อนต่อส่งผลให้ปัจจุบันแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ไม่สามารถหาได้ตามพื้นที่ต่างๆของหมู่บ้านแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะการลืมหนังสือในผู้สูงอายุ โดยตนจะทำการเสนอเรื่องกับศธ.เพื่อของบประมาณให้มีการฟื้นฟูที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีที่รวมตัวทำกิจกรรมอ่านหนังสือ เป็นมิติที่ทำให้ผู้สูงวัยเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยในทุกช่วงวัย

ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/education/news_5109797

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *