วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต มุ่งเปลี่ยน “AI สำหรับคนเก่ง” สู่ “AI สำหรับทุกคน” พัฒนาทักษะเชิงนวัตกรรมและการปฏิบัติจริงให้บัณฑิต

วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งเปลี่ยนจาก “AI สำหรับคนเก่ง” ไปสู่ “AI สำหรับทุกคน” วางอนาคตใหม่ให้กับบัณฑิตด้วยการพัฒนาทักษะเชิงนวัตกรรมและการปฏิบัติจริง ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

รองศาสตราจารย์ นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของโลกยุคปัจจุบันก็คือ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลและสารสนเทศที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทุกมิติของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุค AI Economy

ดังนั้น การสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาและการผลิตบัณฑิตให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยในการรองรับการเปลี่ยนแปลงแบบที่เรียกว่า “The Great Transition”  นั้น วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์จึงได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิศวกรรมชีวการแพทย์ มาตั้งแต่ปีการศึกษา2560 จนถึงปัจจุบันการเรียนการสอนทางด้านปัญญาประดิษฐ์ของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์มีการพัฒนาในทิศทางที่ดีอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง 

อย่างไรก็ตาม จากความท้าทายดังกล่าววิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะ 5 ปี (2567-2571) โดยได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ที่เน้นการจัดการศึกษาและการผลิตบัณฑิตโดยมุ่งก้าวข้ามจากการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นพื้นฐาน (Outcome Based Education: OBE) ไปสู่ระบบการศึกษาที่เน้นการชี้นำสังคมที่เรียกว่า Impact Based Education (IBE) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยี AI ได้มุ่งก้าวเข้าไปเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาจาก “AI สำหรับคนเก่ง” ไปสู่ “AI สำหรับทุกคน” โดยเน้นการจัดการเรียนการสอนในระบบที่เน้นการสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ต่อโลกแห่งความเป็นจริงเป็นสำคัญ (Experienced Based Learning) 

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2568 เป็นต้นไปวิทยาลัยฯ จะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากแค่การศึกษา AI แบบเฉพาะกลุ่มนักศึกษาไปสู่การศึกษาที่เป็นการเข้าถึงนักศึกษาทุกคน โดยที่การจัดการเรียนการสอน การทำโครงงานหรืองานวิจัย รวมทั้งงานบริการทางวิชาการให้กับสังคมในทุกมิติต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ประสบการณ์การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้วยการบูรณาการทางด้าน AI เข้าไปด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม  โดยเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยกับการเรียนรู้ด้าน AI การสร้างห้องวิจัย AI การบ่มเพาะบุคลากร AI การส่งเสริมให้นักศึกษาจัดตั้งชมรม Medical AI การพัฒนาระบบความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญก็คือได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยรังสิตในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดหา Supercomputer สมรรถนะสูงติดระดับประเทศ เพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาและบุคลากร และโดยในอนาคตที่ตามมาจะมีระบบ Ecosystem ที่ครบถ้วนทั้งทางด้านการควบคุมดูแลมาตรฐาน AI การทดสอบสมรรถนะบุคลากรและนักศึกษารวมทั้งบัณฑิต การช่วยเหลือคัดกรองและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ AI ที่จะนำมาใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เหมาะสม

“วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ไม่ได้แค่สอน AI แต่เพียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ได้เน้นการผสมผสาน AI เข้ากับงานต่าง ๆ ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ในทุกมิติของ Real Sector ของอุตสาหกรรมการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนยุคใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์แนวใหม่ ที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการกับนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2568 โดยการพัฒนาระบบ IoT Big Dataแ AI, Big Data เครื่องมือแพทย์และและระบบงานวิศวกรรมชีวการแพทย์อัจฉริยะ ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงจาก “AI สำหรับคนเก่ง” ไปสู่ “AI สำหรับทุกคน” เพื่อวางอนาคตใหม่ให้กับบัณฑิตทุกคนในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะทักษะเชิงนวัตกรรมและการปฏิบัติจริงที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามแนวทางของวิศวกรรมชีวการแพทย์ม.รังสิต ที่เน้นการจัดการศึกษาโดยการทำให้ โลกของการเรียนรู้ โลกของการทำงาน และโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกัน” คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *