เสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 จุฬาฯ ระดมความรู้ข้ามศาสตร์ “ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว” ชวนคิด ชวนถาม เตรียมพร้อมรับมือและฟื้นตัวจากภัยพิบัติ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กลายเป็นบททดสอบครั้งสำคัญที่สร้างความตื่นตระหนกและตั้งคำถามใหญ่ถึงความพร้อมของเมืองหลวงในการรับมือกับภัยธรรมชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศ ตระหนักถึงบทบาททางวิชาการและความรู้ข้ามศาสตร์ที่สามารถนำมารับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน จึงจัดงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 ภายใต้หัวข้อ “จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว: เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร?” เมื่อวันอังคารที่ 1 เมษายน 2568 เวลา 10.30 – 12.30 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

งานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน พร้อมเชิญนักวิชาการจากหลากหลายสาขาวิชา ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการรับมือแผ่นดินไหวอย่างรอบด้าน ทั้งมิติของวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม กฎหมาย และการสื่อสารสาธารณะ

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยในการเป็นเวทีระดมความรู้จากทุกศาสตร์ เพื่อหาทางออกในการเตรียมพร้อม รับมือ และฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงพื้นฐานของแผ่นดินไหว รวมถึง Aftershock ที่มักเกิดตามมา พร้อมอธิบายความแตกต่างระหว่าง Magnitude กับระดับความรุนแรง ตลอดจนชนิดของแผ่นดินไหวที่อาจก่อให้เกิดสึนามิ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจธรรมชาติของภัยพิบัตินี้อย่างถูกต้อง

ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย พร้อมระบุถึงตำแหน่งของ “รอยเลื่อนมีพลัง” ที่ยังคงมีศักยภาพในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนเชิงพื้นที่และโครงสร้างเมือง

ในด้านวิศวกรรม รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวต่อโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงในเขตกรุงเทพฯ พร้อมแนะนำแนวทางการสำรวจรอยร้าวเบื้องต้น วิธีประเมินความเสียหายของโครงสร้าง และการพิจารณาว่าอาคารยังสามารถใช้งานได้หรือไม่

นอกจากนี้ ศ.ดร.ปัญญา และ ศ.ดร.สันติ ได้ร่วมกันให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เช่น ควรอยู่ใต้โต๊ะหรือไม่ อยู่ใต้วงกบหรือคานจะปลอดภัยหรือไม่ และพฤติกรรมใดที่ควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยในช่วงเวลาคับขัน

ทางด้านกฎหมาย รศ.ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสิทธิทางกฎหมายที่ประชาชนควรทราบเมื่อทรัพย์สินเสียหายจากแผ่นดินไหว หรือหากได้รับอันตรายจากสิ่งปลูกสร้างของบุคคลอื่น โดยอธิบายช่องทางการดำเนินการทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ปิดท้ายงานด้วยการสื่อสารสาธารณะ โดย ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเกิดข่าวปลอม (Fake News) และความสับสนของข้อมูลที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในช่วงเหตุการณ์ พร้อมแนะนำแนวทางในการแยกแยะข้อมูลเท็จ และแหล่งข้อมูลที่ประชาชนควรเชื่อถือในภาวะวิกฤต

งานเสวนานี้ไม่เพียงเป็นเวทีให้ข้อมูลแก่ประชาชน แต่ยังเป็นพื้นที่ของความร่วมมือและการตั้งคำถามเชิงรุก ว่า “เราจะอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน และฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *