โรงเรียนในประเทศเดนมาร์กนำเรื่อง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ เข้าไปในชั้นเรียน

โรงเรียนในประเทศเดนมาร์กนำเรื่อง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ หรือ Empathy เข้าไปในชั้นเรียนของเด็กอายุตั้งแต่ 6 – 16 ปี โดยจะเป็นคลาสเล็กๆ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

รายงานความสุขโลก (The World Happiness Report) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้จัดทำแบบสำรวจตั้งแต่ปี 2012 จาก 155 ประเทศทั่วโลก ทำการจัดอันดับตามความสุขของผู้อยู่อาศัยในประเทศนั้นๆ ประเทศเดนมาร์กถูกจัดให้เป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุด และอยู่ในอันดับไม่เคยต่ำกว่า 3 ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็คือการนำชั่วโมงเรียนเรื่อง ‘การเอาใจใส่และความเห็นอกเห็นใจ’ เข้าไปบรรจุในโรงเรียน

การที่เด็กรู้จักเอาใจใส่และเข้าใจผู้อื่นทำให้พวกเขามีการโฟกัสและมุ่งเน้นที่เป้าหมายมากขึ้น โดยนักเรียนที่เข้าใจเรื่องนี้จะช่วยพวกเขาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปความสำเร็จในชีวิตในภายหลัง นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันเรื่องความรุนแรงอย่างการกลั่นแกล้ง (Bullying) ในโรงเรียนอีกด้วย

โดยคลาสเรียนนี้มีชื่อเรียกว่า Klassens tid เด็กๆ จะได้แสดงแชร์ปัญหาที่พวกเขาเจอ ทั้งจากในโรงเรียนหรือในชีวิตประจำวัน กับเพื่อนร่วมชั้น รวมทั้งคุณครู ทั้งหมดก็จะช่วยกันหาหนทางในการแก้ปัญหา ซึ่งในการที่จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการฟังและการทำความเข้าใจอย่างมาก ซึ่งนี่ก็จะช่วยให้นักเรียนมีความเอาใจใส่ต่อผู้อื่นมากขึ้น ถ้าหากไม่มีเรื่องอะไรมาแชร์ พวกเขาก็จะใช้เวลาของชั่วโมงนั้นในการผ่อนคลายแทน

ชาวเดนมาร์กให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีเป็นอย่างมาก และจะเห็นได้ว่าเทรนด์นี้ก็ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ‘ความเป็นฮุกกะ’ (Hygge) ในภาษาเดนมาร์กที่แปลว่า ความอบอุ่น ความสบาย มิตรภาพ และการสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองในที่ๆ ทุกคนได้รับการต้อนรับ ซึ่งฮุกกะ เป็นแนวคิดที่คนเดนมาร์กทุกชนชั้นยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน

ข้อมูลที่น่าสนใจจากหนังสือ The Danish Way of Parenting: What the Happiest People in the World Know About Raising Confident, Capable Kids พบว่า การทำงานเป็นทีม มีส่วนช่วยในการพัฒนาเรื่องความเอาใจใส่ในเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก

กว่า 60% ของการเรียนในเดนมาร์กมาจากการทำงานเป็นทีม พวกเขาทำงานเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่มีการเอาชนะผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

เด็กๆ เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกัน แทนที่จะพยายามเอาชนะคนที่ไม่ได้เก่งหรือมีพรสวรรค์เหมือนตนเอง ซึ่งนี่ยังทำให้เดนมาร์กถูกยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ทำงานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป

แน่นอนว่ายังมีการแข่งขันอยู่ แต่จะเด็กๆ จะสอนให้แข่งกับตัวเอง โดยโรงเรียนจะไม่มีการให้รางวัลที่ส่งเสริมการแข่งขันที่ไม่จำเป็น แต่จะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้โฟกัสและพัฒนาทักษะของตนเองมากกว่า

นอกจากนี้ในโรงเรียนยังมีการฝึกการเรียนรู้ร่วมกัน นักเรียนที่มีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกันในแต่ละวิชาจะทำงานร่วมกันในแต่ละวิชา สิ่งนี้ทำให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาในด้านที่อ่อนแอ และสนับสนุนให้ทำการปรับปรุงและพัฒนาจุดแข็งต่อไป การเรียนรู้ร่วมกันสอนให้เด็กรู้ว่า “ความสำเร็จนั้นไม่สามารถทำได้โดยลำพัง และการทำงานร่วมกับผู้อื่นจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า”

เพราะเมื่อเราอธิบายสิ่งที่เราเข้าใจให้ผู้อื่นได้ฟัง ก็จะทำให้เราสามารถจำข้อมูลนั้นได้ดีกว่าการเรียนรู้เพียงลำพัง และเมื่อเราอธิบายออกไป เราจะต้องพิจารณาว่าคนที่รับฟังได้รับข้อมูลนั้นอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นการสนับสนุนให้เกิดเรื่องความให้เห็นอกเห็นใจเช่นกัน

ที่มา: truththeory.com

techsauce.co

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *