ตั้งเป้าผลประเมิน PISA เด็กไทยปี 2024 เพิ่มคะแนนเฉลี่ยให้ได้ 470 คะแนน

 

โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

 

PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี เพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย การประเมินของ PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาด
รู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักในด้านใดด้านหนึ่งในแต่ละรอบการประเมิน ซึ่งความฉลาดรู้ทั้งสามด้านนี้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมีเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ซึ่งอย่างที่หลายคนทราบว่าผลการประเมิน PISA เมื่อรอบปี 2018 นั้น พบว่าจากนักเรียนที่เข้าร่วมการประเมินประมาณ 600,000 คน จาก 79 ประเทศทั่วโลก ไทยยังคงได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 430 คะแนน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มคะแนนความสามารถด้านการอ่านที่ลดลงอีกด้วย ในปีนี้ทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีการเปิดประชุมกรรมการ PISA ครั้งแรกของปี 2563 โดยมีการวิเคราะห์หาแนวทางพัฒนานักเรียนและตั้งเป้าถึงผลคะแนนของการสอบดังกล่าวอีกด้วย

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังนั่ง และ สถานที่ในร่ม

 

“ตั้งเป้าปี 2024 ผลประเมิน PISA เพิ่มขึ้นคะแนนเฉลี่ยให้ได้ 470 คะแนน”  นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ กล่าวภายหลังประชุมกรรมการ PISA ครั้งแรกของปี 2563

 

โดยการประชุมครั้งนี้มีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมหารือถึงประเด็นดังกล่าว โดยเชื่อว่า PISA เหมือนปลายทางในการวัดผลการศึกษา ดังนั้น จึงได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงรูปแบบในการจัดการศึกษาเพื่อให้ผลลัพธ์ของการวัดผล PISA ของนักเรียนไทยนั้นดีขึ้น

 

ซึ่งผลสรุปจากการประชุมนั้นทางที่ประชุมตั้งเป้าหมายว่าค่าเฉลี่ยคะแนนมาตรฐานการสอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ในส่วนประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นให้ได้ 470 คะแนนในปี 2024 จากเดิมค่าคะแนนเฉลี่ยในส่วนนี้ของประเทศไทยอยู่ที่ 430 คะแนนเท่านั้น

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สอบ pisa 2019

 

และสำหรับประเด็นคะแนนการอ่านของเด็กไทยในการสอบ PISA ลดลงนั้น ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์เรื่องนี้เช่นกัน โดยได้ประสานสถาบันภาษาไทยสิรินธรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้ามาช่วยเหลือในการจัดทำโครงการที่จะยกระดับการอ่านเด็กไทยให้มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ นายแพทย์ธีระเกียรติ ก็ได้สรุปประเด็นของการสอบ PISA โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน  การประชุมกับทุกภาคส่วนวันนี้ ได้มีการวางกรอบ มีการตั้งเป้าหมายว่าผลการประเมิน PISA ของไทยเราจะเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อย่างไร เพราะคณะกรรมการ PISA มีหน้าที่ยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ จากนี้ไปเราก็จะเน้นเรื่องการเรียนการสอน และการฝึกครูผู้สอนและการประเมินผล คือทุกอย่างจะต้องทำงานให้สอดคล้องกัน รวมทั้งการเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะที่จะต้องไปในทางเดียวกัน คืออย่าไปทำแยกส่วน จะต้องเน้นทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เพราะ PISA ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของประเทศ ประเทศเราความจริงมีการเรียนการสอนที่ดีมีความสามารถดีอยู่แล้ว แต่เรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราก็ต้องพยายามเน้นการกระจายครู กระจายการศึกษาและการพัฒนาครู”

 

โดยขณะนี้ฐานข้อมูลจากศูนย์ PISA ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยศูนย์ดังกล่าวได้มีการจัดทำคลังข้อมูล และข้อสอบ รวมถึงการพัฒนาครูมีการดำเนินการไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

ซึ่งเราก็คงต้องมาดูกันต่อไปว่าทางคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการปรับการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนไปในทิศทางใดบ้าง เพื่อที่จะพิชิตเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้อีก 4 ปีข้างหน้านี้ค่ะ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

: fanpage อีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา

:  https://pisathailand.ipst.ac.th/news-12/

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *