หัวหน้าหน่วยDIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ “สื่อ ประชาชน เทคโนโลยี” คือ3พลังเพื่อสร้างสังคมรู้เท่าทันจากเหตุกราดยิงที่โคราช

สื่อ ประชาชน เทคโนโลยี

กับสังคมแห่งความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทัน

ในเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช

รศ.ดร. พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้ทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอหลักคิดเกี่ยวกับการ ทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ประชาชน และบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล จากเหตุการณ์การกราดยิงที่โคราช ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบ 3 ส่วนที่ต้องมีและต้องแสดงบทบาทสำคัญเพื่อสร้างสังคมแห่งความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทัน ดังนี้

  1. สื่อ ทั้งสื่อกระแสหลักและออนไลน์ ต้องทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ ตรวจสอบข้อเท็จจริง มีจริยธรรมกำกับวิธีการและเนื้อหาการรายงานข่าวที่จะไม่ทำให้เหตุการณ์ยิ่งยุ่งยากเลวร้ายลง ไม่ทำร้ายประชาชน ระมัดระวังมิให้การรายงานข่าวส่งผลกระทบให้สังคมมีปัญหาในวันข้างหน้า และต้องเป็นที่พึ่งพิงด้านข้อมูลข่าวสารที่ให้คำแนะนำแก่ประชาชนเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลตนเอง
  2. ประชาชน ต้องนำความรอบรู้ ทักษะ และความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของตนเองมาใช้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ทั้งตนเอง คนรอบข้าง และคนอื่นในสังคมเครือข่าย ปลุกการรู้เท่าทันในตัวเอง เพื่อต้านกระแสข่าวสารที่ไหลเวียนอย่างมากมาย ด้วยการ “ไม่ส่งต่อข่าวทันทีได้รับ” และ “ไม่โพสต์เนื้อหาของตนเองขึ้นมาใหม่” ไม่นำความอยากรู้อยากเห็น อคติ หรือแม้แต่ความหวังดีมาเป็นสิ่งเร้าให้ส่งต่อข่าวสาร สร้างเนื้อหาที่อาจจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลง วุ่นวายสับสน เป็นอันตรายต่อคนอื่นได้ “ตั้งคำถามต่อข่าวสาร” ถึงความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และผลกระทบของข่าวสาร ด้วยการติดตามข่าวจากหลายสำนัก หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วย “ตรวจสอบ”ความถูกต้องและเตือนใจว่า ข่าวนั้นอาจจะยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเหตุการณ์กำลังดำเนินไปเรื่อย ๆ และผู้รายงานข่าวต่างรายงานบนมุมมองของแต่ละคน
  3. เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็น “เครื่องมือ” ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของสื่อให้ทำงานอย่างมืออาชีพ มีจริยธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ พัฒนาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องข่าวสารได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง สร้างระบบอัจฉริยะด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง สร้างแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน ระดมข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากรบนออนไลน์ มาสนับสนุนการทำงานของสื่อ และช่วยเพิ่มความรอบรู้และรู้เท่าทันของประชาชน

ทั้ง 3 ส่วนผสานร่วมกันจะสามารถสร้างพลังที่จะผลักดันให้เกิดสังคมแห่งความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทัน ที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลปัจจุบันและวันข้างหน้า

“ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียของผู้ประสบเหตุทุกท่าน ขอขอบคุณหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ปัญหาและยุติเหตุการณ์ได้ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างสังคมแห่งความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทัน” รศ.ดร.พนม กล่าว

………………..

ขอบคุณภาพจาก Phn Kle

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *