นักวิจัย มทร.ธัญบุรี จัดการ “ขยะอินทรีย์” ตลาดไท ผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน

          นักวิจัยและอาจารย์สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ดร.เอื้องฟ้า บรรเทาวงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุจยา ฤทธิศร และ นันท์นภัส ศรโชติ บริษัทไทย แอ็กโกร เอ็กซเซนจ์ จำกัด “จัดการขยะอินทรีย์แบบครบวงจรในตลาดไท ด้วยระบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน” โดยได้ทุนงานวิจัยสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

          ดร.เอื้องฟ้า เผยว่า ตลาดไทเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดเฉลี่ย 12,000 ตันต่อวัน สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรซึ่งจะถูกนำมาคัดเลือกและคัดแยกเอาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เน่าเสีย มีตำหนิออก ทำให้ตลาดไทมีขยะที่เป็นเศษผักและผลไม้กลายเป็นขยะเหลือทิ้งจำนวนมากประมาณ 120 ตันต่อวัน ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนในพื้นที่ “ในการจัดขยะมูลฝอยที่แยกได้ โดยเฉพาะขยะมูลฝอยที่เป็นสารอินทรีย์ สามารถใช้กระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์และการกินของสัตว์หน้าดิน คือ ไส้เดือน ทำให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน” จึงได้ทำการวิจัยการจัดการขยะอินทรีย์แบบครบวงจรในตลาดไท ด้วยระบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ทำการเปรียบเทียบสายพันธุ์ไส้เดือนเหมาะสมในการจำกัดและลดปริมาณขยะอินทรีย์ในพื้นที่ตลาดไท โดยใช้ไส้เดือน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไส้เดือนดินสายพันธุ์ท้องถิ่น Perionyx excavatus (PE) สายพันธุ์ Eudrilus eugeniae ชื่อสามัญ African Night Crawler (AF) และสายพันธุ์ Eisenia fetida ชื่อสามัญ Tiger worm

          ทำการทดลองโดยนำไส้เดือนดิน เลี้ยงในกระบะปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร หลังจากนั้นเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงไส้เดือน ได้แก่ เศษผักที่เหลือทิ้งจากตลาดผักขายส่งของตลาดไท โดยนำอาหารใส่ลงไปในกระบะเลี้ยงจำนวน 10 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร รดน้ำให้ชุ่มประมาณวันละครั้งเพื่อควบคุมความชื้น เลี้ยงเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยพบว่า ไส้เดือนสายพันธุ์ PE มีการย่อยสลายอินทรีย์ประเภทเศษผักได้ดีที่สุด โดยไส้เดือนจำนวน 1 กิโลกรัม สามารถย่อยขยะอินทรีย์ได้ 10 กิโลกรัม ใช้เวลา 10 วัน รองลงมาคือ ไส้เดือนสายพันธุ์ AF และ Tiger ใช้เวลา 12 และ 14 วัน ตามลำดับ จากการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีพบว่า ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่ได้จากสายพันธุ์ AF ให้ร้อยละไนโตรเจนทั้งหมด ร้อยละฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ร้อยละโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงที่สุด ในขณะที่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากสายพันธุ์ PE มีค่าอินทรียวัตถุและค่าอินทรีย์คาร์บอนมากที่สุด

         ………….

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *