สจล. ประกาศยุติการสอนแบบปรกติ สั่งเรียนออนไลน์เริ่มทันที ลดความเสี่ยง แก่นักศึกษา พร้อมเผยแนวทางบริหารสถานศึกษาในภาวะวิกฤติ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกาศยุติการเรียนการสอนแบบปรกติพร้อมสั่งการเปิดคลาสเรียนออนไลน์ทุกวิชาทันที อย่างช้าสุดภายใน 23 มีนาคม เพื่อรองรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  นอกจากนี้ยังมีมาตรการ อาทิ งดจัดและเข้าร่วมกิจกรรม โครงการ สัมมนา และการประชุมทางวิชาการทุกประเภทที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คนขึ้นไป ยกเว้นเป็นการดำเนินการจัดแบบออนไลน์เท่านั้น ให้บุคลากรและนักศึกษาทุกคนกรอกข้อมูลประวัติการเดินทางและข้อมูลที่เกี่ยวข้องลงในแบบฟอร์มตามที่สถาบันกำหนด กรณีบุคคลภายนอกที่เข้า-ออกสถาบัน ให้ส่วนงานวิชาการและสำนักงานบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อมบันทึกภาพและเก็บข้อมูลตามแบบฟอร์มที่สถาบันกำหนด เปิดช่องทางในการติดต่อสื่อสารผ่าน Website : www.kmitl.ac.th Facebook : www.facebook.com/kmitlofficial/ Line : @KMITL นอกจากนี้ สจล. ยังเผยต้นแบบมาตรการภายในสถานศึกษาเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาทิ มาตรการการทำความสะอาดอาคารเรียน มาตรการคัดกรองนักศึกษา บุคลากร รวมถึงบุคคลภายนอกก่อนเข้าอาคาร จุดบริการแจกเจล – สเปรย์แอลกอฮอล์เพื่อป้องกันเชื้อโรค ฯลฯ มาตรการความพร้อมเหล่านี้จะพร้อมดิสรัปต์สถานการณ์การระบาดในทุกขั้น ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit)

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้ประกาศมาตรการบริหารความเสี่ยง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อการจัดการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยที่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีความชัดเจนในการปฏิบัติ จึงขอออกประกาศสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 โดยให้ดำเนินการ ได้แก่

1. การเรียนการสอนทุกรายวิชาสำหรับภาคการศึกษาที่ 2/2562 ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาจะต้องได้รับองค์ความรู้ครบถ้วนตามผลสัมฤทธิ์ของรายวิชา โดยให้ดำเนินการดังนี้

1.1 การเรียนการสอนในห้องเรียน ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 23 มีนาคม 2563 เท่านั้น หากมีความจำเป็นต้องสอนเพิ่มเติมสามารถดำเนินการสอนแบบออนไลน์ได้
1.2 การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ให้ดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
1.3 รายวิชาโครงงานพิเศษ วิทยานิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ การศึกษาอิสระ สหกิจศึกษา หรือรายวิชาที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่เทียบเท่าให้ดำเนินได้ตามความเหมาะสม

2. อาจารย์ผู้สอนดำเนินการจัดสอบเอง โดยอาจพิจารณาใช้วิธีการวัดและประเมินผลการเรียนตามที่อาจารย์ผู้สอนเห็นสมควร โดยวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนสามารถดำเนินการในรูปแบบการทำรายงาน (Report) หรือการมอบหมายงาน (Assignment) หรือรูปแบบอื่นที่เห็นสมควร ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องได้รับองค์ความรู้ครบถ้วนตามผลสัมฤทธิ์ของรายวิชา

3. ไม่อนุมัติให้จัดและเข้าร่วมกิจกรรม โครงการ สัมมนา และการประชุมทางวิชาการทุกประเภทที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คนขึ้นไป ยกเว้นเป็นการดำเนินการจัดแบบออนไลน์เท่านั้น

4. ให้บุคลากรและนักศึกษาทุกคนกรอกข้อมูลประวัติการเดินทางและข้อมูลที่เกี่ยวข้องลงในแบบฟอร์มตามที่สถาบันกำหนด

5. ให้ส่วนงานวิชาการรายงานข้อมูลบุคลากรและนักศึกษาที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค COVID-19 มายังสถาบันในทุกวันทำการ โดยบุคลากรให้รายงานข้อมูลถึงสำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล และนักศึกษาให้รายงานข้อมูลถึงสำนักงานกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์

6. กรณีบุคคลภายนอกที่เข้า-ออกสถาบัน ให้ส่วนงานวิชาการและสำนักงานบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อมบันทึกภาพและเก็บข้อมูลตามแบบฟอร์มที่สถาบันกำหนด

7. ขอให้บุคลากรและนักศึกษาตรวจสอบการใช้งาน e-mail : account@kmitl.ac.th ของท่านให้ใช้งานได้ปกติ เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการของทางสถาบัน และสามารถติดตามข่าวสารได้ทางช่องทาง ดังต่อไปนี้ Website : www.kmitl.ac.th Facebook : www.facebook.com/kmitlofficial/ Line : @KMITL

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า  โมเดลคลาสเรียนออนไลน์จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และตอบสนองประกาศของ สจล. ที่มุ่งลดการเรียนการสอนในชั้นเรียน และจะต้องดำเนินการเรียนการสอนให้แล้วเสร็จนั้น สจล. ยังตั้งทีมไอทีให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกให้อาจารย์ผู้สอนจัดคลาสเรียนออนไลน์ โดยสามารถเลือกประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการสอนที่เหมาะสม อาทิ Facebook Broadcast, Microsoft Team, Google Classroom หรือ Moodle อีกทั้ง สจล. ยังตั้งเป้าให้ทุกชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยนำโมเดลคลาสเรียนออนไลน์ไปประยุกต์ใช้ในภาวะการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในระยะยาว ตามแนวคิดของ สจล. ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเรียนได้ทุกที่ อย่างไร้ขีดจำกัด (KMITL Go Beyond the Limit)

สถานศึกษาหรือหน่วยงานอื่นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติซึ่ง ประกอบด้วย 1) สถานศึกษาต้องมีผู้บัญชาการรับผิดชอบ ดูแลเรื่องวิกฤตโดยตรง สามารถประสานงานได้ตลอดเวลา 2) สถานศึกษาต้องมีระบบการสื่อสารที่เข้าใจง่าย รวดเร็ว แม่นยำ เข้าถึงทุกคนได้ และต้องมีโฆษกหลักทำหน้าที่ชี้แจงข้อมูลให้เข้าใจตรงกัน 3) สถานศึกษาต้องมีโครงสร้างบริหารความเสี่ยงชัดเจน กระชับ ตัดสินใจได้เร็ว และสามารถลงมือดำเนินการได้ทันที และ 4) สถานศึกษายุคดิสรัปชันต้องใช้เทคโนโลยี สู้ภัยวิกฤต รวมถึงโควิด-19 ตลอดจนสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการพัฒนาการเรียนออนไลน์อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากการพบปะกันท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยงเช่นนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

ดร.กุลชัย กุลตวนิช ผู้ช่วยคณบดีเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์เกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบคลาสเรียนออนไลน์อยู่แล้วในหลายวิชา เนื่องจากองค์ความรู้ของคณะ มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ได้ ทำให้คณะสามารถนำวิธีการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทันที และพร้อมเผยแพร่โมเดลคลาสเรียนออนไลน์ดังกล่าวให้แก่ทุกคณะในมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงาน และภาคการศึกษาต่างๆ ที่สนใจนำโมเดลดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้การเรียนหรือทำงานจากที่บ้าน (work / study from home) มีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.กุลชัย กล่าวเพิ่มว่า หลักการของคลาสเรียนออนไลน์คือ องค์ความรู้ในการเรียนการสอนต้องครบถ้วนเหมือนการเรียนในชั้นเรียน แต่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการพบปะกัน และอาจเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยสื่อในการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ที่สาขาวิชานิเทศศาสตร์เกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. เลือกใช้คือ การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook broadcast) ผ่านกลุ่มปิด (Closed group) ที่ตั้งขึ้นตามรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาสามารถกลับมาดูบันทึกวีดีโอย้อนหลัง และทบทวนบทเรียนได้ ซึ่งเหตุผลที่เลือกใช้การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก เพราะเป็นแพลตฟอล์มสื่อสารทางออนไลน์ที่นักศึกษาใช้กันทุกคน มีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก แตกต่างจากการใช้เครื่องมือออนไลน์อื่นๆ เช่น Microsoft Team, Google Classroom หรือ Moodle ที่อาจต้องมีการจัดอบรมขึ้นเพื่อความเข้าใจในการใช้เครื่องมือ นอกจากนี้ การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กยังมีฟังก์ชันกลุ่มเรียนรู้ทางโซเชียล (Facebook social learning) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการอัปโหลดเอกสาร เนื้อหาการเรียนรู้เป็นยูนิตให้ผู้เรียนเลือกดาวน์โหลดตามบทเรียนได้ ทั้งนี้ ผู้สอนยังสามารถนำเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ได้ ซึ่งสาขาวิชานิเทศศาสตร์เกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. มีทีมงานเข้าไปให้ความรู้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนคลาสออนไลน์ได้

นอกจากคลาสเรียนออนไลน์ที่ สจล. นำร่องใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์เกือบทุกคณะไปเป็นที่เรียบร้อย และยังมีมาตรการรับมือกับภาวะการระบาดของโควิด-19 อาทิ มาตรการการทำความสะอาดอาคารเรียน มาตรการคัดกรองนักศึกษา บุคลากร รวมถึงบุคคลภายนอกก่อนเข้าอาคาร บริการแจกเจล – สเปรย์แอลกอฮอล์เพื่อใช้ล้างมือป้องกันเชื้อโรค ผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ สจล. พร้อมทั้งมีประตูสแกนอุณหภูมิติดตั้งที่คลินิกเวชกรรม สจล. ซึ่งเป็นผลงานที่ผลิตขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ฯลฯ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial หรือเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *