คนทีวีจะเป็นเช่นไรในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19

เรียบเรียงโดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวุฒิ อ่อนน่วม
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ในวันที่เชื้อโรคอย่างไวรัสโคโรน่าออกระบาด การอยู่นอกบ้านล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยงทังต่อตนเองและเสี่ยงต่อสังคม ใครจะคิดฝันว่าสถานการณ์อย่างวันนี้จะมาถึง วันที่เราต้องพยายามเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้ได้มากที่สุด วันที่การอยู่บ้านจะสามารถหยุดเชื้อเพื่อชาติได้ จึงทำให้หลายบริษัท หลายองค์กร และสถาบันการศึกษาต้องตอบรับนโยบายชาติ ปรับเปลี่ยนการทำงานหรือการเรียนเป็นแบบ work from home เท่ากับเราจะได้อยู่บ้านกันแบบยาวๆ หลายคนก็มีอะไรให้ทำมากมาย แต่อีกหลายคนก็คงต้องพึ่งพาเพื่อนคลายเหงาอย่าง “โทรทัศน์” แม้ว่าการเปิดโทรทัศน์บางบ้านก็เปิดทิ้งไว้เป็นแบคกราวด์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราได้บริโภคเนื้อหามากมายผ่านแม้จะตั้งใจชม หรือไม่ได้ตั้งใจชมก็ตาม

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าเรตติ้งทีวีมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้จะขึ้นๆ ลงๆ ในรอบวันเป็นระลอก แต่พอจะเชื่อมโยงเหตุผลได้ไม่ยากนักว่าเรตติ้งที่พุ่งขึ้นนี้ ก็มาจากการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาตินี่แหละ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี ที่เรตติ้งทีวีกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่คนเมืองส่วนใหญ่ใช้เวลานอกบ้านกับโซเชียลมีเดียกันมากใน 3-4 ปีมานี้ แต่เอาเข้าจริงคนทำงานทีวีเองกลับเจอปัญหาเข้าอย่างจัง ไม่ว่าจะเป็นคนเบื้องหน้า และคนเบื้องหลัง

คนเบื้องหน้า ก็เจอพิษ COVID-19 ไปเต็มๆ ไม่นับคนที่ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล หรือ คนที่สุ่มเสี่ยงต้องกักตัวเท่านั้น แต่เพราะงานของทีวีคือการรวมตัว เจอผู้คน งานต่างๆ อีเวนท์ คอนเสิร์ต ต่างถูกยกเลิกไปหมด ทำให้คนเบื้องหน้า ศิลปิน ดาราแทบจะต้องอยู่บ้านไปโดยปริยาย ด้านคนเบื้องหลังเองก็หนักใช่เล่น เพราะไม่ว่าจะเป็นรายการเกมส์โชว์ กองถ่ายทำละคร ภาพยนตร์ ซีรีย์ต่างๆ ที่ต้องอาศัยคนทำงานจำนวนมาก ก็ต้องยกเลิกไปตามกัน คงเหลือแต่รายการที่ใช้ทีมงานจำนวนไม่มาก เช่น รายการข่าว หรือรายการที่ใช้พิธีกร ผู้ประกาศ ไม่กี่คน ที่ยังคงพยายามสร้างคอนเทนต์กันต่อไป แม้แต่การสัมภาษณ์แขกรับเชิญยังไม่สามารถทำได้แบบตัวต่อตัว เพราะศิลปินดาราเองก็ไม่พร้อมที่จะออกมาเสี่ยงกับสถานการณ์โควิดนี้เหมือนกัน ทำได้เพียงวิดีโอคอลผ่านรายการเท่านั้น จนกลายเป็นสภาวะสวนทางกันระหว่าง Demand กับ Supply ที่คนได้มีโอกาสดูทีวี แต่คนทำงานทีวีกลับอยู่ในสถานการณ์ที่สร้างสรรค์อะไรไม่ได้เท่าไร
ย้อนกลับไปดูเรื่องละครกันอีกที แม้ว่าสงครามแย่งชิงเรตติ้งของทีวีหลายช่อง ใช้คอนเทนต์ละครเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ชม แต่อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า การทำงานที่ต้องใช้คนมากๆ อย่างกองถ่ายละคร จำใจต้องยกเลิกกันไปถ้วนหน้า บางช่องโชคดีที่ละครมีในสต็อกที่รอออกอากาศค่อนข้างมาก แต่บางช่องใช้วิธีถ่ายไป ออกอากาศไป ก็ต้องถึงกับหยุดกลางคัน ก็เท่ากับว่าช่องทีวีกำลังมีปัญหาสินค้าหมดแผง ก็ถึงเวลาที่ต้องเอาละครเก่ามารีรันอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องติดตามดูว่า ในสถานการณ์แบบนี้การรีรันละครจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ไม่เพียงแค่กองถ่ายละครจะมีปัญหา การถ่ายทำรายการเกมส์โชว์ ที่ก่อนหน้านี้เป็นสินค้าอีกชิ้นที่ทำรายได้ให้กับทีวี ก็ต้องเป็นอันยกเลิกกันไปแทบแถวเช่นกัน ได้มีโอกาสสอบถามเพื่อนๆ น้องๆ ที่เป็นทีมงานในหลายรายการ ก็บอกเหมือนกันว่า ตอนนี้ยังพอมีเทปสต็อกให้ออกอากาศได้สักระยะหนึ่งซึ่งอาจไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน แต่หากสถานการณ์ยังไม่ปกติ ก็คงต้องใช้กลยุทธ์หยิบของเก่ามาเล่าใหม่ อีกเช่นกัน ยิ่งรายการที่ต้องใช้คนดูเป็นจำนวนมากๆ ก็ทำให้ต้องเป็นอันยกเลิกการบันทึกเทปกันไปตามๆ กัน แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น หรือยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์กันไปยาวๆ หลายเดือน ดูท่ารายการลักษณะนี้คงต้องกลับไปเปลี่ยนรูปแบบกันอย่างจริงจัง

ขณะที่บางรายการอาจปรับประยุกต์รูปแบบบางอย่างให้การถ่ายทำสามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่สุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์โควิด หลายรายการก็งดการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเป็นเผชิญหน้า เปลี่ยนเป็นสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล หรือเปิดคลิปพูดคุยของแขกรับเชิญแทน รายการเล่าข่าว พิธีกร ผู้ประกาศก็ยังคงต้องทำงานกันต่อไป เพราะนี่คงเป็นคอนเทนต์เดียวที่จะสามารถตรึงกำลังสร้างเรตติ้งให้กับสถานีต่อไปได้ การนั่งหรือยืนคุยกันในระยะประชิดก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นทิ้งระยะห่างทางสังคม เว้นว่างห่างกันคนละฟากเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ชมด้วย หรือบางรายการก็ให้พิธีกรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน บางรายการก็ปรับแผนการทำงานมาเป็นทำรายการแบบ work from home ที่เห็นชัดๆ ก็คือ รายการข่าวสามมิติ ของคุณกิตติ สิงหาปัด ช่อง 3 ยกสตูดิโอมาไว้ที่บ้านให้คนดูเห็นถึงการปรับตัวอย่างชัดเจน

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลกระทบเชื้อโรคร้ายที่ทุกคนต่างต้องเผชิญ ต้องเรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่กระท่อนกระแท่นอีกสถานการณ์หนึ่ง คงต้องเฝ้าดูกันต่อไปว่าคนทำงานสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะคนทีวี จะเป็นอย่างไร หากมาตรการของรัฐเพิ่มความเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม คนทำงานทีวีจะต้อง “ทู่ซี้” กับสถานการณ์หวานอมขมกลืนเช่นนี้เช่นไร แต่ไม่ว่าคนทีวีจะต้องเจอกับความยากลำบากแค่ไหน ยังไงก็เชื่อว่าเราจะสามารถผ่านพ้นไปได้ เพราะพื้นฐานของการทำงานบนหน้าจอทีวี คือความคิดสร้างสรรค์ และการยืดหยุ่นลื่นไหลต่อสถานการณ์ต่างๆ จะเป็นอาวุธที่จะทำให้คนทีวีผ่านพ้นวิกฤตนี้

รายการอ้างอิง
https://www.tvdigitalwatch.com/top10-primetime-rating-30-3-63/
https://www.facebook.com/Kwiangremote
https://www.posttoday.com/ent/news/619393
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000032632

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *