ถาปัตย์ ม.รังสิต ตะลุยภูชีฟ้า ออกแบบ และก่อสร้าง “เฮือนฮ่วมใจ๋” ศาลาอเนกประสงค์ สำหรับสถานีและเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า ภูชี้ฟ้า

“เฮือนฮ่วมใจ๋” เป็นเรือนร่มใจ ,ร่มฤดี ร่มเรือนที่ทำให้จิตใจสงบ เรือนสำหรับผู้เข้าอบรมใช้รับประทานอาหาร และแบ่งกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือการป้องกันไฟป่า เรือนที่รวมตัวพวกเราทุกคน สร้างขึ้นมาด้วยมือ และหัวใจ โดย นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก Studio Design Lab มหาวิทยาลัยรังสิต

อาจารย์ไพบูลย์ กิตติกูล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะประธานโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากการศึกษาโครงการ 4+1 และวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม 6 (ARC429) ภาคการศึกษาที่ 2/2562 ภายใต้ชื่อโครงการทัศนศึกษาและปฏิบัติการ (Workshop) ในหัวข้อ Tectonic ความหมายของศิลปะในการ ก่อ- สร้าง ประกอบด้วยหลายส่วนตั้งแต่ สุนทรียศาสตร์ เทคนิคกรรมวิธีที่ดี วัสดุที่เลือกมาใช้ในการก่อสร้างให้เหมาะสมกับบริบท และรูปแบบโครงสร้างก่อเป็นรูปทรงที่ตอบสนองการใช้งาน รวมถึงบูรณาการความคิดความรู้ในเชิงช่างของพื้นที่มาออกแบบสร้างอาคารให้งดงามน่าสนใจ โดยได้นำนักศึกษาจาก Studio Design Lab กว่า 10 คน ลงพื้นที่ทดลองก่อสร้างงานที่ออกแบบด้วยการลงมือทำจริง สร้างศาลาอเนกประสงค์ “เฮือนฮ่วมใจ๋” อาคารไผ่ รองรับคนได้จำนวน 40-50 คน สำหรับเป็นที่พักผ่อนและ รับประทานอาหาร แก่เจ้าหน้าที่ดับไฟ ณ สถานีควบคุมไฟป่าภูชีฟ้า จังหวัดเชียงราย และมอบให้ทางสถานีควบคุมไฟป่า ภูชี้ฟ้า เพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ต่อไป

สำหรับโครงการนี้เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนร่วมระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีนโยบายความร่วมมือทางวิชาการเน้นการเรียนการสอนในชั้นเรียน ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงนอกห้องเรียนเพื่อประสบการณ์ตรงในการพบเห็นและเรียนรู้ การ Workshop หนึ่งในรูปแบบที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกันระหว่างสถาบัน
แนวทางการศึกษาปฏิบัติเป็นการต่อยอดประเด็นการเรียนในเรื่อง Tentonic ในขั้นตอนสุดท้ายของการเรียนการสอนในห้องเรียนนั่นคือ หลังจากการออกแบบทำรูปจำลองแล้ว ต้องมีการลงมือทำ ก่อสร้าง เรียนรู้ขั้นตอนของการปฏิบัติจากการหยิบจับและทดลองสร้างผ่านสัดส่วนจริง วัสดุจริง และแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงในภาคสนาม ทำให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจกระบวนการออกแบบ ก่อสร้าง และเข้าใจนิยามความหมายของวัสดุ และเทคนิคในการก่อสร้างได้ทุกมิติ

แนวทางการลงพื้นที่ภาคสนามก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์นั้นทาง Studio Design Lab โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประสานงานร่วมกับทางสถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุงซ่อมแซม และทางสถานีควบคุมไฟป่าภูชีฟ้า จังหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับความประสงค์ของสถานี มาพัฒนาออกแบบก่อนขั้นต้นและ ระหว่างการก่อสร้างอาคาร จะมีการสอดแทรกเทคนิค ความรู้ในงานไม้และฝีมือในเชิงช่างจากประสบการณ์จริง โดยมีอาจารย์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า และสถาปนิกโครงการ คอยให้คำแนะนำการทำงานจริงตลอดกว่า 1 สัปดาห์
คุณสันธาน เวียงสิมา หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการในฐานะสถาปนิกประจำโครงการ กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นประกอบกับสภาพทางสังคมของชุมชนบนภูชีฟ้านี้เอง จากที่ได้สัมผัสพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีทรัพย์ดิน สินในน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ที่ในฐานะคนเมืองอย่างเราไม่มี แต่ชาวบ้านพื้นถิ่นเหล่านั้นมีแต่กลับมองข้ามพยายามสรรหาวัสดุ หรือสิ่งแปลปลอมจากพื้นราบมาใช้ นำมาซึ่งการเกิดโครงการที่อยากจะช่วยให้ชาวบ้านได้เห็นว่าทรัพยากรพื้นถิ่นที่เป็นสมบัติของเขาสามารถทำประโยชน์ได้นานาประการ และชาวบ้านเองมีองค์ความรู้จากสภาพแวดล้อมพื้นถิ่นที่ควรส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ จึงได้ร่วมกับอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยรังสิต จัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นและสร้างจิตสำนึกแก่นักศึกษาเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมจากการเรียนรู้ปัญหาจริงของสังคมที่นักศึกษาอาจพบเจอสถานการณ์จริงเมื่อจบไปเป็นสถาปนิกในอนาคต ก่อนการลงพื้นที่ได้บรรยายเพื่อเปิดมุมมอง โลกทรรศน์ ให้ความรู้ในทางทฤษฎีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น แนวคิด และประเด็นทางเทคนิคในการก่อสร้างก่อน จากนั้นเมื่อลงพื้นที่จริงนักศึกษาได้เริ่มเรียนรู้การสัมผัสวัสดุ การก่อสร้างจากวัสดุธรรมชาติด้วยวิธีธรรมชาติ มีการสร้างทัศนคติเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมช่าติต่าง ๆ ซึ่งเป็นวัสดุเชิงสร้างสรรค์ที่นักศึกษาสามารถหยิบยกมาออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมได้
นักศึกษาได้รับการชี้แนะโดยเน้นกระบวนการ ปรับวิธีคิด เป็นวิธีทำ ต้องทำอย่างไร? จากจินตนาการสู่กระดาษ จากกระดาษสู่คอมพิวเตอร์ จากคอมพิวเตอร์สู่หุ่นจำลอง ๑:๑ จากหุ่นจำลอง ๑:๑ สู่งานก่อสร้างจริง ศาลาเอนกประสงค์โครงสร้างไผ่และฐานดินซีเมนต์ ซึ่งจากการลงพื้นที่ครั้งนี้น่ายินดีที่เห็นว่านักศึกษามีศักยภาพ มีพื้นฐานที่ดีจากการเรียนในห้อง ขณะที่ส่วนหน้างานนักศึกษาได้สัมผัสการทำงาน เข้าใจว่าการก่อสร้างด้วยวัสดุทางธรรมชาติที่ไม่ง่าย เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน ความพยายาม นักศึกษาลงมือเลื่อยไผ่เอง ได้เรียนรู้วิธีการแต่ละขั้นตอนด้วยตัวเอง ระหว่างการทำงานที่มีการแบ่งทีมรับผิดชอบ มีการแก้ปัญหาปรับเปลี่ยนหน้างานอยู่ตลอด และนักศึกษาก็ทำได้ ที่สำคัญคือนักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่องานออกแบบของตนเอง ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาโครงการที่เป็นเพียงคนคอยกระตุ้น และดึงศักยภาพในตัวของเขาออกมา ทำให้ว่าเขาเกิดแรงบันดาลใจจนผลักดันให้เกิดผลงานออกมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
นายสราวุธ ค้อมคำพันธ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าภูชี้ฟ้าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ในฐานะเจ้าของพื้นที่ กล่าวว่า “สถานของเราตั้งอยู่ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย รับผิดชอบพื้นที่ประมาณ 187,500 ไร่ มีหน้าที่รณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่า ปฏิบัติงานด้านการควบคุมไฟป่า รวมถึงประสานงาน สนับสนุน ร่วมปฏิบัติงานดับไฟป่าและบรรเทาภัยธรรมชาติกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เรามีความต้องการพื้นที่ในส่วนที่นำมาเป็นสถานทราอบรมการป้องการไฟป่าอย่างถูกวิธีให้แก่ราษฎรในพื้นที่ของเรา เนื่องจากราษฎรเหล่านั้นเป็นเครือข่ายสำคัญที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเราในการช่วยเหลือและป้องกันไฟป่า เราขาดพื้นที่ที่ใช้ในการเป็นที่พักคุยงาน พักรับประทานอาหาร รวมถึงประชุมงานระหว่างเจ้าหน้าที่และราษฎรที่มาเข้ารับการอบรม เมื่อทางสถานีของเราได้รับการติดต่อจากสถาปนิกโครงการ และอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทาลัยรังสิต เรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ทางสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญมองเห็นปัญหาความต้องการของทางสถานี และได้เลือกสถานีของเราเป็นการจัดการเรียนนอกห้อง มาใช้สถานที่ลงมือก่อสร้างอาคารให้กับเรา ซึ่งการก่อสร้างอาคารได้มีการประสานงาน ทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยตามความต้องการของทางสถานีซึ่งเป็นอาคารไผ่ และได้ใช้วัสดุจากพื้นที่ของเราเอง ซึ่งอาคารพักผ่อนนี้จะเป็นอาคารอีกหนึ่งหลังที่ทางเราจะใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมให้มากที่สุด นอกจากนี้เรายังได้รับความร่วม คำแนะนำต่าง ๆ ในการดูแลรักษาอาคารให้สามารถใช้ได้ในระยะยาวอีกด้วย”

นางสาวสุรัญชญา พลนครเดช และนายพิพัฒนพงศ์ นวดิจศุภกร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า “เราแบ่งเหน้าที่กันเป็นฝ่ายออกแบบ (Design) ฝ่ายก่อสร้าง และฝ่ายจัดเตรียมวัสดุ แต่ละฝ่ายก็รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองคนที่ทำโครงสร้างก็จะดูแบบและทำโครงสร้างพวกข้อต่อต่างๆ ส่วนเพื่อนจะจัดเตรียม ไผ่ ขนาดที่ต้องการตามแบบไว้ให้กับเรา เพื่อนที่รับผิดชอบก่อสร้าง ขึ้นแบบ 3D ก็แยกย้ายกันทำ แต่ละคนก็รับงานต่อกันโดยมีการคุยกัน แก้ปัญหาร่วมกันอยู่ตลอดเพื่อให้งานออกแบบก่อสร้างของเราออกมาสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งวัสดุก็ทำมาจากธรรมชาติทั้งหมดซึ่งพวกเราได้ศึกษา หาข้อมูล เตรียมการกันมาก่อนการลงพื้นที่มาบ้าง ข้อมูลที่เราได้รับจากการเรียนในห้องเรียนประกอบกับคำแนะของอาจารย์ และที่ปรึกษา ร่วมถึงการได้แชร์ความคิดเห็นกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่เจ้าของสถานที่ ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนการทำงานหน้างานได้ดี แม้จะมีอุปสรรคปัญหาบ้างแต่ก็ได้กำลังใจ และพวกเรามีความตั้งใจในการาลงพื้นที่ทำงานจริง สุดท้าย การได้ทำงานออกแบบจาพื้นฐานความรู้สถาปัตยกรรมที่เรียนมากับการใช้วัสดุท้องถิ่น ผลงานออกแบบ ก่อสร้างอาคารนี้เกิดขึ้นจรง ส่งต่อให้พี่ๆ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ประโยชน์ เราก็รู้สึกดีใจและภูมิใจกับผลงานของพวกเราทุกคน สำหรับอาคารพักผ่อนนี้พวกเราได้ร่วมกันตั้งชื่อว่า “เฮือนฮ่วมใจ๋” ส่งต่อให้กับ สถานีควบคุมไฟป่าภูชีฟ้า จังหวัดเชียงราย”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *