เตรียมพร้อมก่อนเรียนมหาวิทยาลัยล่วงหน้ากับหลักสูตร AP : Advanced Placement

 

สำหรับน้องๆ มัธยมที่อยากจะเตรียมพร้อมก่อนการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็อาจเคยได้ยินหลักสูตร AP กันมาบ้าง ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นประโยชน์มากๆ แก่น้องๆ ที่อยากเตรียมความพร้อมหรือเรียนล่วงหน้าก่อนเข้ามหาวิทยาลัย วันนี้เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรนี้มาฝากกันค่ะ

 

 

 

Advanced Placement (AP) เป็นแบบทดสอบที่มีเนื้อหาในระดับมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาส ให้นักเรียนในระดับมัธยมปลาย (High School) ได้ทดสอบตัวเอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งนักเรียนมัธยมปลายที่สอบวิชาใน AP ผ่านตามเกณฑ์ก็สามารถใช้คะแนนนี้ยื่นเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ หลักสูตรนี้จัดทำขึ้นจัดขึ้นตั้งแต่ปี  1950 โดย College Board ซึ่งเป็นองค์กรเดียวกับที่จัดสอบ SAT หรือ Standardized Test โดยแรกเริ่มนั้นหลักสูตรนี้เปิดแค่ 11 วิชาเท่านั้น ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาจนปัจจุบันนี้อยู่ที่ประมาณ 38 วิชาเลยทีเดียว

 

สำหรับจุดเด่นของ AP คือนักเรียนสามารถเข้าสอบได้แม้ว่าจะไม่ได้ผ่านการเรียนในหลักสูตร AP มาก่อน ดังนั้นนักเรียนของ High School ที่ไม่ได้ใช้การสอนแบบ AP หรือแม้แต่นักเรียนที่เรียนแบบ Home Schooling ก็สามารถเข้าสอบ AP ได้เช่นกัน

 

การจัดสอบนั้น AP จะจัดสอบปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน พฤษภาคม ของทุกปี และคะแนนจะออกในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งผลของการประเมินการสอบจะแบ่งออกเป็นตัวเลข 5 ระดับ ได้แก่ 5, 4, 3, 2 และ 1 โดยเกณฑ์และคะแนนที่จะยื่นเข้ามหาวิทยาลัยนั้นจะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนมากจะรับผล AP ที่ได้คะแนน 4 และ 5 ในขณะที่บางแห่งรับผล AP ที่ได้ 3 เท่านั้น แต่ก็มักจะให้นักเรียนสอบ Standardized Test เช่น SAT หรือ ACT เพื่อประกอบการสมัครเข้าเรียนด้วย

 

 

ข้อดีของการสอบ AP นี้ก็คือหากเราสอบผ่านวิชาที่มีการเปิดสอนในมหาวิทยาลัย เราก็จะไม่ต้องมานั่งเรียนในห้องเหมือนคนอื่นๆ และวิชาส่วนใหญ่ที่เปิดสอบนั้นจะเป็นวิชาพื้นฐานของปี 1 – 2 ดังนั้น AP จึงถูกจัดว่าเป็นทางลัดสำหรับน้องๆ ชั้นมัธยมปลายที่ต้องการจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยแบบล่วงหน้านั่นเอง  เพราะยิ่งถ้าเราสอบผ่านได้หลายวิชาตามที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนได้นั้น เราก็จะได้เก็บสะสมหน่วยกิตได้เร็วขึ้น โอกาสที่เราจะเรียนจบเร็วกว่าเพื่อนก็มีมากขึ้นนั่นเอง และคนที่สามารถสอบผ่านหลักสูตรนี้ได้ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยนั้นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อมที่จะเรียนต่อในระดับแม้จะยังมีอายุไม่ถึงเกณฑ์ปกติของการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย

 

แต่การเรียนและสอบของหลักสูตร AP นั้นจะเหมาะสำหรับการไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดามากกว่าการยื่นเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของไทย เนื่องจากหลักสูตร AP ในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้มีการรับผล AP อย่างแพร่หลายเหมือนอย่าง SAT และมีแค่บางหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเท่านั้นที่ได้กำหนดให้ AP เป็นหนึ่งในคุณสมบัติพิเศษที่ผู้สมัครสามารถนำมายื่นสมัครเรียนได้นั่นเอง หากน้องๆ สนใจอยากเรียนต่อในหลักสูตรอินเตอร์ระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้น ก็มีการสอบมีหลายรูปแบบที่สามารถให้เราใช้คะแนนในการยื่นเรียนต่อได้เช่นกัน ซึ่งน้องๆ ที่สนใจก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ที่ >>> อยากเรียนต่ออินเตอร์ ต้องเตรียมตัว(สอบ)อะไรบ้าง?

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://www.aims.co.th/ap/

: https://www.dek-d.com/studyabroad/44428/

: https://www.chulatutor.com/ap/

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://www.teachingprofessor.com/topics/for-those-who-teach/quizzes-improve-student-learning/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *