สกสว. เผยข้อมูล “อันตรายของโรคโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก”

ดร. สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานโครงการ โครงการ “สนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในหลายประเทศได้มีการรายงานถึงอันตรายของโรคโควิด-19 ในเด็ก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี และสเปน โดยรายงานในวารสาร Hospital Pediatrics พบผู้ป่วยในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเด็กอายุ 6 เดือน มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส มีอาการเบื่ออาหาร แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีการไอ น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก ต่อมามีผื่นแดงตามตัว ตาเเดง และมือบวม ซึ่งคล้ายกับอาการของโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) ซึ่งเป็นโรคของระบบหลอดเลือดที่มักพบในเด็ก ทำให้หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง (Coronary aneurysm) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ แต่จากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดในเด็กรายนี้ พบการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (แม้จะไม่ได้แสดงอาการป่วยของโรคโควิด-19) อย่างไรก็ดี หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าเส้นเลือด ร่วมกับ Acetylsalicylic acid ขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 4 ครั้ง ภายใน 1 วัน พบว่าอาการไข้ลดลง หลังจากนั้นผู้ป่วยถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และไม่พบภาวะแทรกซ้อน

 

มีการรายงานในวารสารทางการแพทย์ Lancet ว่าพบเด็กอายุ 4–14 ปี จำนวน 8 ราย ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีภาวะ Hyperinflammatory shock คล้ายกับอาการของโรคคาวาซากิ คือผู้ป่วยมีไข้สูงมาก (38–40 องศาเซลเซียส) มากกว่า 4–5 วัน นอกจากนี้ยังแสดงอาการปวดหัว ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง ตาแดง และมีผื่นขึ้นตามตัว เมื่อตรวจระดับของโปรตีนในเลือด พบโปรตีนมีค่าสูง ได้แก่ C-reactive protein (CRP), Erythrocyte sedimentation rate (ESR) และ Ferritin สูงเกินมาตรฐาน และที่น่าสนใจคือ มีสมาชิกในครอบครัวของเด็ก 4 ใน 8 ราย ที่เคยติดโรคโควิด-19 มาก่อนแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะตรวจไม่พบเชื้อ SARS-CoV-2 ก็ตาม ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้ได้รับการรักษาภายใน 24 ชั่วโมง และได้รับยาปฏิชีวนะ (Ceftriaxone และ Clindamycin) ผลปรากฏว่าการรักษาได้ผลดี เด็กมีอาการดีขึ้นภายในเวลา 4–6 วัน จากงานวิจัยดังกล่าว จึงมีข้อสังเกตว่าโรคโควิด-19 อาจมีความสัมพันธ์บางอย่างกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) ซึ่งยังต้องการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาคำตอบต่อไป

ส่วนสถานการณ์ในประเทศล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มีการปรับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2563 เพิ่ม เพิ่มโปรแกรม 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ที่มีการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย หรือ “พีเอ็มยู” (PMU: Program Management Unit) รวมทั้งสิ้น 7 พีเอ็มยู เป็นงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ สนับสนุนการจัดการทั้งในภาวะวิกฤตและการฟื้นตัวหลังภาวะวิกฤต โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้าง 1) ชุดความรู้สาธารณะเกี่ยวกับปัญหาและการจัดการเมื่อประสบภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ที่ถูกปลูกฝังอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน 2) ฐานข้อมูลและศูนย์ข้อมูลเพื่อการจัดการภาวะวิกฤตและหลังภาวะวิกฤต 3) นโยบายและนวัตกรรมเพื่อการจัดการภัยพิบัติที่เป็นผลงานจาก ววน. อย่างน้อย 50 ชิ้น/เรื่อง ในช่วง 2 ปี (2563 – 2564) ที่ต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมไม่ขึ้นหิ้ง และ 4) ผลิตข้อมูลเพื่อการลงทุน ในการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภาวะวิกฤต ทั้งในภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคราชการ เพื่อผลลัพธ์สำคัญคือ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคม ได้ร้อยละ10 ของความสูญเสียที่คาดการณ์ อย่างกรณีโควิด-19 ลดความสูญเสียประมาณ 19,000 ล้านบาท จากการมีการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ระบบติดตามการระบาดของโรค ให้ความรู้แก่ประชาชน และมีมาตรการทางการแพทย์ สาธารณสุข และฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมในระดับอุตสาหกรรมและระดับพื้นที่ และมุ่งเน้นให้ประเทศมีกลไกในการปรับตัวทั้งทางด้าน ความมั่นคงในด้านอาหาร สุขภาพ และสังคมเพื่อเกิดภาวะวิกฤต

เอกสารอ้างอิง
Jones VG, Mills M, Suarez D, et al. COVID-19 and Kawasaki disease: novel virus and novel case. Hosp Pediatr. 2020; doi: 10.1542/hpeds.2020-0123
Riphagen S, Gomez X, Gonzalez-Martinez C, Wilkinson N, Theocharis P. Hyperinflammatory shock in children during COVID-19 pandemic. Lancet. 2020; https://doi.org/10.1016/S0140-6736(20)31094-1
Crystal Phend. Today, Kawasaki Disease From COVID-19 in Kids: How Common?. MedPage [Internet]. 2020 [cited 2020 May 14]. Available from: https://www.medpagetoday.com/infectiousdisease/covid19/86393

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *