เจาะลึก! นศ.บริหารธุรกิจ ศรีปทุม พลิกวิกฤต Covid-19 สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ช่วยชุมชนบ้านเกิด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง ด้วยเหตุนี้นักศึกษาจากสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงนำเทคนิคการทำธุรกิจที่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยมาปรับใช้เข้าสู่ e-commerce platform หลักทุกช่องทางในประเทศไทย

วันนี้!! จึงจะขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสองสาวสวยเยาวชนคนรุ่นใหม่จากรั้วแดนปาล์ม มหาวิทยาลัยดังย่านบางบัว ที่สามารถสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิดพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ช่วง COVID-19

สำหรับสองสาวสวยเก่งมากความสามารถก็คือ “น้องจ๋า” นางสาวไหมไทย ชัยประโคน และ “น้องลิลลี่” นางสาวชวลัน อรรถสุวรรณ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ชั้นปีที่ 2 และปีที่ 3

น้องจ๋า หรือ นางสาวไหมไทย ชัยประโคน เล่าว่า จ๋าเองเป็นเจ้าของแบรนด์ HELAN กระเป๋าจักสาน สไตล์เรียบหรู โดยจ๋ามีทีมที่ร่วมสร้างธุรกิจมาด้วยกัน คือ ทีม Phenomenal ประกอบด้วย น.ส.หนึ่งหทัย สุพิพัฒน์ประเสริฐ ,น.ส.ศิริลักษณ์  เกตุจันทร์ และนายธนภัทร วีระพรจิจิต โดยมี ดร.อนุพงศ์ อริรุทธา เป็นอาจารย์ที่ดูแลและให้คำปรึกษาโครงการฯมาตลอด

น้องลิลลี่ หรือ นางสาวชวลัน อรรถสุวรรณ  เล่าว่า สำหรับลิลลี่เป็นเจ้าของแบรนด์ CHAVALAN Handcrafted & Customized Thai Silk Bag กระเป๋าผ้าไทย สไตล์วัยรุ่น พิมพ์ชื่อได้

เมื่อเกิดวิกฤต Covid ธุรกิจจึงเริ่มได้รับผลกระทบ

น้องจ๋า เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มเกิดเชื้อไวรัส Covid-19 จึงทำให้รายได้ของคนที่บ้านรวมถึงธุรกิจภายในชุมชนบ้านเกิดลดลง นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวลดลง ประชาชนก็พากันออกจากบ้านน้อยลง  พอปริมาณการซื้อน้อยลง ปริมาณการผลิตก็ต้องลดลงตาม คนที่ชุมชนก็ว่างงานรายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม เพราะวิกฤตโควิดค่ะ

น้องลิลลี่ เล่าว่า จริงๆ แล้วแบรนด์ของลี่ได้รับผลกระทบจากการกักตัวของประชาชน ความต้องการซื้อของใช้อย่างกระเป๋าจึงมีความสำคัญเป็นรองของการซื้ออาหาร ทำให้ยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด

พลิกวิกฤตให้เป็น “โอกาส” นำความรู้ที่เรียนมาพัฒนาธุรกิจบ้านเกิด

น้องจ๋า เล่าว่า แรกเริ่มที่บ้านและคนในชุมชนรวมตัวกันทำจักสาน เพื่อส่งให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางไปขายในตัวอำเภอ แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งจะเกิด Covid ขึ้น  คนที่บ้าน คนที่ชุมชน ต่างได้รับผลกระทบกันแทบทุกครัวเรือน จ๋ากับเพื่อนจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาจากสิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยมา โดยสร้างร้านค้าขึ้นบนออนไลน์ e-commerce platform

น้องลิลลี่ เล่าว่า แรกเริ่มลี่ใช้วิธีการขายแบบ Offline ปากต่อปาก ใช้สวย ดี บอกต่อ คนเห็นเราใช้เค้าก็ชอบก็อยากได้บ้าง แต่แล้วเมื่อเกิดวิกฤต Covid ทำให้ได้รับผลกระทบพอสมควร จึงเริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ อย่าง e-commerce platform โดยสร้าง Facebook Page ทำให้คนรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น จึงทำให้ยอดขายมากขึ้นเช่นกันค่ะ

ผลตอบรับเป็นอย่างไร

น้องจ๋า เล่าว่า ผลตอบรับที่กลับมาคือยอดขายพุ่งขึ้นจากเดิมสูงมาก จากรายได้ที่เคยได้จากพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง วันนี้มีรายได้เพิ่มมาอีกช่องทางและเป็นรายได้ที่ ด้วยความที่ชุมชนสามารถตั้งราคาที่ชุมชนอยากจะขาย ลูกค้าก็ได้ราคาจากโรงงาน ลูกค้าแฮปปี้ ชุมชนแฮปปี้ เราก็มีความสุขค่ะ

น้องลิลลี่ เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มมาเป็น e-commerce ผลตอบรับดีมากค่ะ แบรนด์เราเป็นที่รู้มากขึ้นในวงกว้าง มียอดขายมากขึ้น ทำให้สินค้าของชุมชนได้เข้าสู่ตลาดกว้างขึ้นด้วยค่ะ

สุดท้ายนี้ ด้วยการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ธุรกิจต้องเจอปัญหารายได้ลดลง น้องๆ นักศึกษาจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิดที่กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างยากลำบาก ด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ พร้อมจับมือข้ามวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน

#Dek63 #SPU #ศรีปทุม  #Sripatum #GATPAT #Onet #เรียนกับตัวจริงประสบการณ์จริง #คณะบริหารธุรกิจSPU #COVID-19 #สาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *