ผู้บริหารสวนสุนันทาชี้แนวทางฝ่าวิกฤต ต้องปรับตัวให้ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยศักยภาพของตนเอง

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดให้มีการประชุมมอบนโยบายประจำปี ครั้งที่ 2 แก่บุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุนวิชาการ ทั้งมหาวิทยาลัย ด้วยการจัดการประชุมแบบออนไลน์ โดยมีสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และกองบริหารงานบุคคล เป็นหน่วยงานหลักในการจัดและดำเนินการ

รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นประธานในการประชุม และมอบนโยบายในการบริหารและปฏิบัติงานในการร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งล้วนได้รับผลกระทบทั้งจากสภาพทางจำนวนประชากรผู้เรียนที่ลดลง การได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมีแนวโน้มการปรับลดงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มหาวิทยาลัยจึงต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ นอกจากนี้ งบวิจัยจากภาครัฐก็ถูกปรับลดลง การแข่งขันสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้มหาวิทยาลัยของเราจะมีระบบของการพึ่งพาตนเองโดยการจัดหารายได้ แต่วิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรน่า COVID-19 ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ แม้โอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มในขณะนี้ยังไม่เอื้ออำนวย แต่มหาวิทยาลัยก็ได้มีมาตรการในการควบคุมการใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในส่วนของคณะ และหน่วยงานต่างๆ ขอความร่วมมือให้บุคลากรทุกคนระดมกำลังอย่างแข็งขัน ในการประชาสัมพันธ์หลักสูตร การเรียนการสอน โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องไปตลอด ผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากรต้องมีหน้าที่ในการเป็นนักประชาสัมพันธ์ด้วย เพื่อช่วยกันผลักดันให้มหาวิทยาลัยของเราก้าวผ่านไปได้ เราจะไม่ทิ้งกัน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้มอบแนวทางเรื่อง New Normal University ซึ่งงานทางด้านวิชาการก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ การจัดการเรียนการสอนออนไลน์จะต้องถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ นโยบายมหาวิทยาลัยกำหนดให้มีการทบทวนเรื่องการ ปิด – ปรับ – เปิด หลักสูตรต่างๆ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ต้องสร้างหลักสูตร 2 ภาษา สนับสนุนผลักดันให้มีการนำเสนองานวิจัยต่างประเทศของนักศึกษา การประชาสัมพันธ์การรับสมัครนักศึกษาโดยมีนักศึกษาของเราเป็นเครือข่ายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และ บทบาทของอาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาจะต้องมีหน้าที่ในการระดมความคิดกับอาจารย์ในสาขา ว่าทำอย่างไรจึงจะยืนหยัดอยู่ได้ในสถานการณ์วิกฤตินี้

การนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจต่อมาคือ SSRU Next และการออกแบบประเมินการปฏิบัติราชการ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เมฆขำ รักษาราชการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและประกันคุณภาพ ซึ่งได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอาจารย์ และบุคลากร เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และจะได้มีการทบทวนระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะได้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น เพื่อให้ได้ระบบการประเมินที่เที่ยงตรงมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

จากนั้นเป็นเรื่องการบริหารและพัฒนาด้านกายภาพ และการคลัง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา พงษ์เพ็ง รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ซึ่งท่านได้กล่าวถึงมาตรการในการเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโคโรน่า COVID-19 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดและดำเนินการอย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่การคัดกรอง การเว้นระยะห่าง และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการต่างๆ ของหน่วยงาน สำหรับในส่วนของงานทางด้านกายภาพและสาธารณูปการอื่นๆ ที่เป็นส่วนสำคัญ เช่น ระบบการจัดการพื้นที่ ไฟฟ้า ประปา และภูมิทัศน์นั้น ได้ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันดูแลรักษา นอกเหนือจากที่ส่วนกลางได้บริการจัดการดูแล และการจัดการจราจรขอให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ระบบการเบิกจ่าย จะได้ให้แนวทางในการดำเนินการด้วยความรวดเร็ว และเบิกจ่ายตามระเบียบอย่างถูกต้อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนนาถ มีนะนันทน์ รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ได้กล่าวถึงเรื่อง We’ re inspired together ความสำเร็จของการจัดและดำเนินการด้านกิจกรรมของนักศึกษา ทั้งที่เป็นกิจกรรมปกติ และกิจกรรมในระบบออนไลน์ การสนับสนุนให้นักศึกษาได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจิตอาสา การช่วยเหลือดูแลนักศึกษาทั้งในด้านสุขอนามัย การช่วยเหลือนักศึกษาจากวิกฤติ COVID-19 ทั้งการจัดสวัสดิการพบการติดเชื้อ จ่าย 10,000 บาท เสียชีวิต จ่าย 100,000 บาท การระดมทุนการศึกษาช่วยเหลือนักศึกษา ขอให้ท่านผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรทุกฝ่าย ได้ช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษาของเราได้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในชีวิตต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ได้นำเสนอที่ประชุมในหัวข้อ คิดจากฐานโตจากราก เป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบันนี้ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ต้องเน้นการยืนหยัดอยู่ได้ด้วยศักยภาพของตนเอง ก้าวข้ามกับดักการทำงานเดิมๆ สู่การสร้างคุณค่าให้แก่สังคมและประเทศโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณภาครัฐ

อาจารย์และบุคลากรต้องพร้อมปรับตัวเข้าสู่รูปแบบของการบริการวิชาการระดับประเทศ มีองค์ความรู้ที่จับต้องได้ เร่งความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนและท้องถิ่น สร้างเครือข่ายเพื่อร่วมทำงานวิจัย พัฒนา big data เพื่อให้นำไปสู่งานบริการที่มีจุดขายในที่สุด เพื่อสร้างศักยภาพและเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ทั้งหมดที่ผู้บริหารทุกท่านได้ประชุมสร้างความเข้าใจต่อบุคลากรในวันนี้ อาจกล่าวสรุปได้ว่า การปรับตัวดี จะทำให้เราอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์

………………………….

www.ssru.ac.th
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : ข่าว
ขอบคุณภาพ : เครือข่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *