เด็ก TCAS รอบ 5 ต้องรู้ ! เรียนวิศวะได้อะไรมากกว่าที่คิด รีวิวประสบการณ์ตรง จาก “วิศวะรุ่นพี่ TSE รั้วแม่โดม

ต้องยอมรับว่าการเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเรียนคณะ/สาขา ในมหาวิทยาลัยไหน ย่อมมีความยากง่ายสอดแทรกอยู่เสมอ แต่หากเราเลือกที่จะมองว่า การเรียนในสาขานั้น ๆ มาพร้อมกับ “ความยาก” หรือมีความคิดที่ว่า “เรียนไม่ได้” นั้น ก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้หรือทดสอบศักยภาพของตนเอง และพาตนเองถอยห่างจากความฝันที่เคยตั้งมั่นไว้

และเชื่อหรือไม่ว่า “เรียนวิศวะยากไหม?” เป็นคำที่ถูกค้นหาบนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งความสงสัยนี้ก็อาจนำไปสู่ความลังเลใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เอาเป็นว่าอย่าเพิ่งเดากันไปก่อนดีกว่า บทความนี้จะพาไปพบกับรุ่นพี่ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE คณะที่ได้รับเสียงตอบรับจากเด็ก TCAS63 จำนวนมาก ที่มาร่วมไขข้อข้องใจ พร้อมกับแชร์เทคนิคเรียนยังไงให้ดี และมีโปรไฟล์กิจกรรมควบคู่กันไปด้วย ถ้าน้อง ๆ พร้อมแล้ว ตามมาอ่านกันเลย !!

• “ความรับผิดชอบ ความอดทน และความขยัน จะพาไปสู่เป้าหมาย” นายรัฐพิทักษ์ ก้อพิทักษ์ (ซาร์ด) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ชั้นปีที่ 4 เล่าว่า พอก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย การเรียนย่อมแตกต่างจากตอนที่เราอยู่มัธยมฯแน่นอน ในมหาวิทยาลัยเรามีอิสระมากขึ้น แต่มันก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่สูงขึ้นเช่นกัน อย่างภาควิชาวิศวกรรมโยธาที่ผมเรียน จะต้องใช้ความจำและการทำความเข้าใจในส่วนของเนื้อหา กฎเกณฑ์ทางวิศวกรรมต่างๆ การคำนวณสูตร ใช้ฟิสิกส์เข้ามาต่อยอด รวมถึงการทำแล็บ เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ของทฤษฎี ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นสำหรับผม และแม้จะดูเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่มาก ๆ แต่มันก็ไม่ยากเกินความสามารถ เพราะตลอดเวลาที่เรียนหรือทำแล็บ จะมีอาจารย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีตรงไหนที่ไม่เข้าใจ ผมสามารถขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา

นอกจากการเรียนแล้ว ผมยังชื่นชอบในการทำกิจกรรมอีกด้วย โดยผมเป็นพิธีกรของชมรมสันทนาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในปี 2559 และผู้นำสันทนาการ กองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 15 ในปี 2560 ถ้าถามว่าผมแบ่งเวลาอย่างไร ในตอนเย็นหากว่างจากการเรียนหรือทำแล็บ ผมจะไปช่วยงานในชมรมทั้งของคณะและมหาวิทยาลัย เนื่องจากตำแหน่งที่ผมได้รับต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นอย่างมาก นอกจากกิจกรรมจะฝึกให้ผมรู้จักกับความรับผิดชอบและความอดทนมากขึ้นแล้ว มันยังทำให้ผมได้เจอกับเพื่อนต่างคณะ ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันอีกด้วย ซึ่ง “การทำกิจกรรมนั้น มหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับ แต่ถ้าเราทำเราก็จะได้ในสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดสอนเหมือนกัน”

หลายคนอาจคิดว่าการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย จะส่งผลกระทบต่อการเรียนไหม สำหรับผม ผมใช้เทคนิคอยู่ 3 ข้อคือ รับผิดชอบในหน้าที่ให้ได้ คือ ไปเรียนตามตารางที่ลงไว้ ต่อมาคือความอดทน แม้จะทำกิจกรรมหนักแค่ไหน แต่ถ้าอีกวันมีเรียนเช้า ก็ต้องไปให้ได้ อย่างน้อยขอให้อาจารย์เห็นหน้าก็ยังดี สุดท้ายคือความขยัน ผมจะรักษามาตรฐานการเรียน ด้วยการหมั่นทบทวนบทเรียนและหาความรู้ใหม่ ๆ ให้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะมันสามารถนำไปต่อยอดในสายอาชีพของผมได้ในอนาคต

ผมรู้สึกว่าการเรียนในช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงหนึ่งในชีวิตที่สนุกมาก ๆ นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย หากไม่ได้ทำในช่วงนี้ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจบออกไปแล้วจะมีโอกาสอีกไหม เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ไม่ต้องเป็นกังวลนะครับ ที่นี่มีทั้งเพื่อนๆ รุ่นพี่ และอาจารย์ที่คอยให้คำปรึกษา ถ้าได้ลองเข้ามาเป็นครอบครัวเกียร์เดียวกันแล้ว อาจจะสนุกจนลืมไปเลยก็ได้ว่าการเรียนวิศวะมันยากจริงไหม

• “โฟกัสสิ่งที่จะได้รับ มากกว่าความยากของวิชาที่เรียน” นางสาวกวิสรา ซื่อตรง (ข้าวหอม) โครงการหลักสูตร TU-PINE สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ชั้นปีที่ 2 เล่าว่า แต่ละสาขาวิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็มีความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป ส่วนความยากของวิศวกรรมซอฟต์แวร์อยู่ที่การเขียนโปรแกรม ที่เราจะได้เรียนการเขียนโปรแกรมในหลาย ๆ ภาษา ซึ่งแต่ละภาษาก็จะมีรูปแบบในการเขียนโค้ดที่แตกต่างกันออกไปอีก ทั้งนี้ การเขียนโปรแกรมยังต้องอาศัยความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ด้วย เช่น หากต้องการเขียนโปรแกรมที่ต้องสร้างเครือข่ายความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต ก็จะต้องมีความรู้ทางด้าน Network Security เป็นต้น

ด้วยความแปลกใหม่ทั้งสังคมและเนื้อหาในการเรียน ทำให้ในช่วงแรก ๆ ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ บางวิชาเราก็ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานมาก เราต้องขยันอ่านหนังสือและหาความรู้เพิ่มมากขึ้น หลายคนอาจจะเครียดและมองว่ามันดูกดดันไปหรือเปล่า แต่เรากลับมองว่าเราจะได้อะไรจากการที่เลือกเรียนในคณะนี้ มากกว่าสิ่งที่เรียนนั้นยากมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ทุก ๆ เทอมเราจะตั้งเป้าหมายเรื่องการเรียนให้กับตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีเป้าหมายชัดเจน เราจะมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ เพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ ที่สำคัญต้องพยายามเข้าเรียนทุกคาบ ตั้งใจเรียน ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน จะยกมือถามอาจารย์ทันที หลังเรียนเสร็จก็จะมานั่งอ่านทบทวนในสิ่งที่เรียน ฝึกเขียนโปรแกรมและทำโจทย์บ่อยๆ เมื่อมีเวลาก็จะอ่านเนื้อหาที่จะเรียนในครั้งถัดไปล่วงหน้า พอถึงเวลาเรียน จะได้เข้าใจง่ายขึ้น
การที่เราเลือกเรียนวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราชอบและสนใจ แต่สิ่งที่เหมือนได้กำไรคือการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งภายในหรือภายนอกคณะ เราได้ฝึกทักษะอะไรหลายๆ อย่าง ที่มากกว่าเนื้อหาในหนังสือหรือในชีทที่เรียน แต่เราก็ต้องแบ่งเวลาให้ดี กิจกรรมต้องไม่เสีย ในขณะที่การเรียนก็ยังอยู่ในมาตรฐานที่ตั้งไว้ เรารู้สึกว่าการเรียนคณะวิศวะฯ ให้อะไรมากกว่าคำว่ายากหรือง่าย มันเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่เราเองก็ไม่อยากให้น้อง ๆ พลาดไปเหมือนกัน

• “ทฤษฎีทำให้ได้รู้ แต่การลงมือปฏิบัติจะช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น” นายรมย์ พานิชกุล (รมย์) โครงการหลักสูตร TEPE ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 เล่าว่า วิศวกรรมเครื่องกล เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับ กลศาสตร์ พลังงาน การควบคุม เน้นในเรื่องของการทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งต่างๆ เป็นหลัก ดังนั้นความรู้พื้นฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เพราะมันจะทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น หากมีตรงไหนที่ไม่เข้าใจ ก็สามารถถามอาจารย์ หรือจะปรึกษารุ่นพี่ในคณะได้เช่นกัน

ด้วยความที่การเรียนวิศวะฯ จะมีทั้งเนื้อหาและสูตรที่ใช้ในการเรียนค่อนข้างเยอะ สำหรับผมเทคนิคที่ช่วยให้ผมเข้าใจในเรื่องที่เรียนได้เร็วและง่ายกว่าคือ การจับคอนเซ็ปต์ให้ได้ ผมจะพยายามทำความเข้าใจและมองภาพรวมให้ออกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ดังนั้น การเรียนในคณะวิศวะฯ ไม่ได้ทำให้ผมเข้าใจแค่เนื้อหาในหลักสูตรเท่านั้น แต่มันยังพาผมไปเรียนรู้การแข่งขันทำหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากในสาขาที่ผมเรียน จะมีกิจกรรมที่สามารถแชร์ไอเดียในการสร้างหุ่นยนต์ได้ และยังมีทุนที่คอยสนับสนุน หากอาจารย์เล็งเห็นว่าไอเดียนั้นสามารถต่อยอดได้

โดยในปี 2017 ผมและเพื่อนๆ ได้ทำหุ่นยนต์ Space Walker สิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ผลงานของพวกเราได้รับรางวัลเหรียญทอง Gold Medal ในงาน i-CREATe 2017 เมืองโกเบ ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนในปี 2019 ที่ผ่านมา พวกผมได้รางวัล Merit Award และ Best Prototype Award ในงาน i-CREATe 2019 ที่เมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย จากผลงานหุ่นยนต์ ReArm อุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่จะช่วยฟื้นฟูและทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีและสนุกมากๆ สำหรับผมเลย เพราะมันได้หยิบทฤษฎีในห้องเรียนมาลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เราเห็นภาพได้ง่ายและเข้าใจในสิ่งที่เรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การรู้จักแบ่งเวลาก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ผมก็ยังจัดการได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ผมก็พยายามทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป

สุดท้ายอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังจะตัดสินใจเข้ามาเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ว่า กิจกรรมก็เป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับความรู้ในห้องเรียน หากได้ลองเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ พี่เชื่อว่าน้อง ๆ จะได้ประสบการณ์ดี ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างแน่นอน เรียนที่นี่ไม่ยากแบบที่คิด ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะที่นี่มีอาจารย์และรุ่นพี่ที่คอยให้คำปรึกษาเสมอครับ

สำหรับน้อง ๆ TCAS63 ที่สนใจศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ใน TCAS รอบ 5 (รับตรงอิสระ) สามารถดูรายละเอียดและสมัครสอบได้ที่ โครงการหลักสูตร TEP-TEPE http://tupine.engr.tu.ac.th/recruitment.php และโครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ www.tupine.engr.tu.ac.th ตั้งแต่วันนี้ – 15 มิถุนายน 2563 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ TSE โทร. 083-618-3410 หรือ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT https://engr.tu.ac.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *