4 นักวิชาการคว้ารางวัล TTF AWARD 2563 มธ.-มูลนิธิโตโยต้าฯ หนุนสร้าง‘สังคมแห่งความรู้’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น TTF AWARD ประจำปี 2562-2563 (Toyota Thailand Foundation Award 2020) เพื่อประกาศเกียรติคุณและสนับสนุนผลงานของนักวิชาการไทย ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการรางวัล TTF AWARD เปิดเผยว่า โครงการ TTF AWARD เริ่มมอบรางวัลเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพวงวิชาการไทย ด้วยการคัดเลือก ยกย่อง ผลงานที่มีความหนักแน่น ละเอียด และทรงคุณค่าในทางวิชาการ โดยมีคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป็นผู้อ่านคัดกรองและคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล TTF AWARD ประจำปี 2562-2563 ทั้ง 4 สาขา ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์กับสังคมและวงการศึกษา พร้อมขอขอบคุณ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ให้การสนับสนุนมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาโดยตลอด”

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า TTF AWARD เป็นรางวัลที่ส่งเสริมกำลังใจแก่นักวิชาการที่อุทิศตน ค้นคว้าผลงานเพื่อยกระดับมาตรฐานตำราวิชาการ ให้เป็นแหล่งข้อมูลศึกษาหาความรู้มากขึ้น และส่งเสริมสังคมไทยให้เป็น“สังคมแห่งความรู้” โดยมีผลงานวิชาการดีเด่นที่ได้รับรางวัลและจัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วกว่า 60 เล่ม

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัล TTF AWARD จะเป็นพลังให้นักวิชาการไทยสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่ทรงคุณค่าเท่าทันยุคสมัยและเป็นประโยชน์ทางภูมิปัญญา แก่สังคมไทยสืบไป”

รางวัล TTF AWARD ครั้งที่ 18 ในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 4 ท่าน ประกอบด้วย 1.ด้านสังคมศาสตร์ ลงานเรื่อง “เถียงกันเรื่องแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” ของ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ด้านมนุษยศาสตร์ผลงานเรื่อง “เจดีย์ในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา” ของ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

3. ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผลงานเรื่อง “โรคสมาธิสั้น” ของ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 4. ด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ผลงานเรื่อง “เอนไซม์ย่อยอาหารในสัตว์น้า” ของ รศ.ดร.การุณ ทองประจุแก้ว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้าน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เจ้าของผลงาน “เถียงกันเรื่องแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม” กล่าวว่า หนังสือได้นำเสนอภาพการดำเนินการทางการเมืองในประเด็น “ยุติการตั้งครรภ์” ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 จากมุมมองของตัวแสดงทางการเมืองที่หลากหลาย กระบวนการนโยบายสาธารณะของไทย กรอบและนำเสนอประเด็นของฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมในการถกเถียงและลักษณะเฉพาะของสังคมไทยในเรื่องการท้องไม่พร้อมและการเลือกยุติการตั้งครรภ์ ที่จะนำไปสู่การร่วมกันคิดหาทางออก

“ผู้อ่านผลงานชิ้นนี้ นอกจากจะได้เสพงานที่หลากหลาย และมีฐานจากงานวิจัยหรือการค้นคว้าแล้ว ยังทำให้ผู้สร้างผลงานไม่ท้อถอยที่จะทำงานใหม่ๆ นำเสนอความรู้ เพื่อการคิดและถกเถียงประเด็นต่างๆ ในสังคมไทยต่อไป”

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน “เจดีย์ในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา” กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์ในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่แรกรับวัฒนธรรมพุทธศาสนา คือ สมัยทวารวดี จนมาถึงปัจจุบัน ด้วยการนำเสนอรูปแบบของเจดีย์แบบต่างๆ ที่มา และวิวัฒนาการ วิเคราะห์แนวคิด คติ และศรัทธาในการสร้าง แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคม วัฒนธรรม ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของชาติและศาสนา

“การค้นคว้าครั้งนี้มีประโยชน์ต่อการศึกษางานศิลปกรรม การเรียนการสอน การวิจัย ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และศาสนา มีความรู้และความเข้าใจถึงรูปแบบและพัฒนาการของเจดีย์ในแต่ละยุคสมัย นำไปใช้ในงานบูรณปฏิสังขรณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ  เพิ่มคุณค่า มูลค่าทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม”

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานเรื่อง “โรคสมาธิสั้น” กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยวัยเรียนถึงร้อยละ 5-8 หรือประมาณ 600,000–960,000 คน กำลังป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ก่อให้เกิดปัญหาการเรียน การเข้าสังคม ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ยังเล็กอาจส่งผลกระทบตามมา ผู้เขียนพยายามค้นคว้า รวบรวม กลั่นกรองงานวิจัยทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวน 1,000 กว่าฉบับ ผนวกกับประสบการณ์ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นกว่า 20 ปี และงานวิจัยของผู้เขียนเอง ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ และทางการศึกษา เข้าใจและให้ความช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.การุณ ทองประจุแก้ว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของผลงานเรื่อง “เอนไซม์ย่อยอาหารในสัตว์น้ำ” กล่าวว่า อาหารจัดเป็นต้นทุนผันแปรที่มีมูลค่าสูงที่สุดในกระบวนการผลิตสัตว์น้ำ ดังนั้น การนำองค์ความรู้ด้านเอนไซม์ย่อยอาหารเข้ามาใช้ จึงช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและลดปริมาณของเสียจากอาหารที่สัตว์น้ำกินไม่หมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและนักวิชาการที่สนใจ รวมทั้งผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ สามารถนำความรู้ (Knowhow) หรือ เคล็ดลับ (Trick) ไปประยุกต์ใช้ได้โดยตรง

“ขอบคุณมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือ “เอนไซม์ย่อยอาหารในสัตว์น้ำ” ให้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และขอให้คำมั่นว่าจะพัฒนาผลงานทางวิชาการอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมเป็นกำลังใจให้นักวิชาการทุกท่าน สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่ทรงคุณค่าต่อไป”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *