กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ มทร.ธัญบุรี แถลงความสำเร็จ ปั้นเครือข่าย ‘ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร’

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) แถลงความสำเร็จกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกล ทางการเกษตร ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ ชั้น 7 อาคารบางซื่อจังชั่น กรุงเทพ. โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ร่วมแถลงความสำเร็จ


ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากความร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี ดำเนินกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรภายใต้โครงการส่งเสริม การแปรรูปสินค้าเกษตรระดับชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์และจัดทำข้อมูล ทั้งผู้ให้บริการเครื่องจักรด้านการเกษตรและความต้องการของเกษตรกร รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจให้กับสมาชิกของโครงการ และเพิ่มช่องทางการใช้บริการเครื่องจักรกลและผลิตภัณฑ์การเกษตร ขณะเดียวกันยังได้จัดทำข้อมูลเผยแพร่การเรียนรู้ในด้านการใช้งานเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี เพื่อให้สมาชิกในเครือข่ายมีศักยภาพความพร้อมในการแข่งขัน พร้อมสนับสนุนเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็งในมิติต่างๆ พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง แบ่งปันข้อมูลสำคัญเพื่อการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน และสามารถเป็นต้นแบบที่ดีของการเป็นผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรต่อไปได้


ผลสำเร็จของกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ที่ได้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2563 นี้ มีผู้ประกอบการทั้งผู้ขายและผู้ให้บริการด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตร ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และมีผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ได้ผู้เข้าร่วมในปี 2563 นี้ จำนวน 18 รายหลัก มีการรวบรวบรวมรายชื่อบริษัทที่ให้อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อการเผยแพร่และเป็นข้อมูลการเชื่อมโยงธุรกิจอีกจำนวน 350 ราย นอกจากนี้ยังมีผลงานเขียนบทความทางวิชาการด้านเทคนิค 21 เรื่อง บทความวิชาการกรณีศึกษาจากการลงพื้นที่ 10 เรื่อง จาก 5 พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยมีผู้สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 310 ราย รวมถึงการจัดการบูรณาการกับหน่วยงานภาคสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายและโอกาสในการเชื่อมโยงทางธุรกิจให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทางเกษตร สู่ห่วงโซ่อุปทาน โดยเพิ่มช่องทางการเลือกใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทางเกษตร ในรูปแบบของ Website: iaid.in.th และ Smart IAID Application แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง ซึ่งผลจากการใช้ Smart IAID App. เพียงช่วงเดือนสุดท้ายของกิจกรรม พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการจับคู่ธุรกิจมากถึง 102 คู่ เกิดมูลค่าการซื้อบริการกว่า 1.5 ล้านบาท และยังมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม การให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ การให้คำแนะนำแผนธุรกิจเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจในยุคปัจจุบัน อีกด้วย


จากเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เกิดดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถพ่นยา หรือ Boom Sprayer สามารถเพิ่มผลผลิตได้สูงถึง 443.16 ตัน ลดต้นทุนได้ 3.36 ล้านบาท ส่วนโดรนสามารถเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 8,335 ตัน ลดต้นทุนได้ 6.50 ล้านบาท กล่าวคือ จากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถลดแรงงานคนในการปลูกข้าวเฉลี่ย 35 คน/วัน หรือปลูกอ้อยเฉลี่ย 31 คน/วัน โดยในภาพรวมทั้งหมดคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 20.43 ล้านบาท/ปี


ด้าน ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่าการดำเนินกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้รับความร่วมมือจากบริษัทเป็นอย่างดี สามารถเกิดเป็นเครือข่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ เกิดการจับคู่ธุรกิจการค้า การจัดทำแผนกลยุทธ์ การวิเคราะห์และวางระบบฐานข้อมูล รวมถึงการออกแบบช่องทางการบริการในรูปแบบเว็บไซต์ เพื่อการค้นหาและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการด้านเทคนิคและการให้คำปรึกษาจากที่ปรึกษา ที่ถือได้ว่าเป็นการร่วมแสดงบทบาทในการบริการวิชาการและความรู้ของมหาวิทยาลัย โดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ในการอัพสกิลและรีสกิลให้กับผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ยังกล่าวอีกด้วยว่า เชื่อมั่นว่ากิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร จะเป็นประโยชน์และเกิดผลในทางปฏิบัติต่อผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน มั่นคง ขณะเดียวกันยังเกิดเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์การให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอย่างครบวงจร และจะเป็นต้นแบบให้กับผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้องต่อไปได้ ที่สำคัญบทบาทของ กสอ. และ มทร.ธัญบุรี ยังคงมีอยู่ต่อไปในเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ ประสบความสำเร็จเช่นนี้”

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงความสำเร็จกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกล ทางการเกษตร ยังมีการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและผลลัพธ์จากการใช้ Smart IAID Application โดย ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้อำนวยการกองกลาง มทร.ธัญบุรี รวมทั้งมีจัดอบรมการใช้ Smart IAID Application (Smart IAID Application Training) โดย ผศ.จตุรพิธ เกราะแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานบริการสารสนเทศและหัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการและฝึกอบรม มทร.ธัญบุรี ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาเสริมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรต่อไป รวมถึงการจัดบูธแสดงข้อมูลและผลงานของทั้ง 18 ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.iaid.in.th หรือสอบถามโทร. 061 240 2266.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *