‘ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด’ กับจุดยืนหนักแน่น…ก้าวแรกในบ้านหลังนี้…นักศึกษาทุกคน คือ ‘ลูกของเรา’

 


“ก้าวแรกที่เข้ามาในรั้ว มทร.ธัญบุรี นักศึกษาทุกคนคือ ลูกของเรา และจะเป็นลูกของเราต่อไป…ตลอดชีวิต” เสียงยืนยันหนักแน่นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)

ด้วยความก้าวหน้า ผลงานเป็นที่ยอมรับ ประจักษ์แจ้ง และทะยานสู่การเป็นผู้บริหารใหญ่ของมหาวิทยาลัย ตำแหน่ง “อธิการบดี มทร.ธัญบุรี” ในวัย 59 กะรัต สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และมีประสบการณ์การทำงานวิจัยด้วยทุนวิจัยหลังปริญญาเอก (Joint Research Program:JSPS) ประเทศญี่ปุ่น และทุนวิจัยหลังปริญญาเอก Alexander von Humboldt ประเทศเยอรมนี รวมถึงประสบการณ์การทำงานกับ มทร.ธัญบุรี มาอย่างยาวนาน เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเข้าใจในจุดอ่อนและจุดแข็งของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการงานของมหาวิทยาลัย

การขยับและผลักดันอย่างเต็มสปีดในด้านวิชาการและด้านการวิจัย โดยยืนยันว่า “ตอนนี้ทุ่มเทและเป็นต้นเสียงหลักเพื่อขับเคลื่อน มทร.ธัญบุรี สู่เป้าหมายการเป็น มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ‘Innovative University’ ที่มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนทางวิชาการ วิชาชีพ เพื่อให้คิดอย่างสร้างสรรค์ และเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเน้นสร้างงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรม สังคม ชุมชน หรือสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันยังต้องให้บริการวิชาการแก่ชุมชนพื้นที่เป้าหมายหรือภาคประกอบการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งยังทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งปลายทางก็เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามเป้าหมายสำคัญ

ส่วนการผลิตบัณฑิตนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย มองว่า เป็นความท้าทายสำหรับผู้สอน กล่าวคือ การจะทำให้เด็กเก่งและมากด้วยความสามารถ จบออกไปแล้วมีงานทำที่ดีและต้องมีความก้าวหน้าต่อไปในระดับที่สูงขึ้นนั้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับอาจารย์ผู้สอนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมั่นว่าด้วยนโยบายและยุทธศาสตร์ของ มทร.ธัญบุรี อีกทั้งเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า  จะร่วมมือร่วมใจกันทำงาน และนำพา มทร.ธัญบุรี ไปได้ไกลกว่านี้เป็นแน่ ดังสโลแกนสำคัญที่ว่า  “We Society We RMUTT” 

ระดมสรรพกำลังช่วยนักศึกษา ในสถานการณ์โควิด-19

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด เผยว่า ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้พัดมาผู้คนให้ปรับเปลี่ยนชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ดังเช่น การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน การล้างมือ การใช้เจลล้างมืออย่างสม่ำเสมอ การงดหรือปรับรูปแบบการทำงาน/กิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งการเพิ่มระยะห่างระหว่างกัน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็ได้ปรับตัวและพัฒนาเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งออกมาตรการต่าง  ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อรองรับกับสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและสอดคล้องไปกับแนวทางรัฐบาล เช่น การปรับรูปแบบการทำงานสู่ Work from Home การพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์         การปรับลดเทอม การจัดบริการหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ การจัดตั้งตู้ปันสุข รวมถึงสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือแก้ปัญหาอันสำคัญที่กำลังอุบัติขึ้นอยู่ตอนนี้

ล่าสุด มหาวิทยาลัยได้เชิญผู้ประกอบการหอพักเอกชน บริเวณรอบมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง ประชุมหารือในการเตรียมความพร้อมการกลับมาเรียนของนักศึกษาซึ่งมีจำนวนกว่า 26,000 คน เพื่อรองรับการกลับเข้าเรียนและพักอาศัยตามปกติในวันที่ 5 – 13 กันยายนที่จะถึงนี้ และใกล้กับช่วงเวลาของการสอบกลางภาคและเปิดเรียนที่มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม มทร.ธัญบุรี ก็ได้ตระหนักถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ตามที่รัฐบาลได้ออกประกาศและมีแนวทางการป้องกันต่าง ๆ ทั้งการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย บริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคาร เพื่อตรวจอุณหภูมิของคณาจารย์ นักศึกษาและบุคลากร รวมถึงประชาชนที่เดินทางมาติดต่อราชการ พร้อมทั้งจัดให้มีเจลล้างมือแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยบางส่วนไว้คอยบริการ เพื่อเป็นมาตรการยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้ประกอบการธุรกิจหอพักภาคเอกชนในการมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และหอพักบางแห่งยังได้จัดให้มีส่วนลดพิเศษสำหรับนักศึกษาที่จะเข้าพัก อีกทั้งบางแห่งก็พิจารณาให้นักศึกษาเข้าพักฟรี และจากการประชุมหารือมหาวิทยาลัย   ยังได้ขอความร่วมมือในเรื่องการช่วยดูแลสอดส่องนักศึกษา กรณีหากมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง ไม่เหมาะสม     หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น ขอให้แจ้งทางมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งกรุ๊ปไลน์ขึ้นสำหรับการแจ้งข้อมูลข่าวสารและช่องทางการติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการหอพัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการแจ้งข่าวสารระหว่างกัน ส่วนในอนาคตมหาวิทยาลัยจะมีการจัดประชุมและเชิญผู้ประกอบการหอพักเป็นระยะ ต่อไป เพื่อดูแลติดตามในคุณภาพชีวิตของนักศึกษา โดยมาตรการที่กระทำอยู่นี้ เชื่อมั่นว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองได้ดียิ่งขึ้น

งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างชื่อ

“มทร.ธัญบุรี เป็นสถาบันแห่งหนึ่งที่มีผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างคุณค่าจากงานวิจัยได้อย่างหลากหลาย”

ล่าสุด มหาวิทยาลัยได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าร่วมในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มีการนำผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวด และจัดแสดงนิทรรศการในงาน ทั่วประเทศกว่า 150 หน่วยงาน

มทร.ธัญบุรี ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “Platinum Award” พร้อมเงินรางวัล 120,000 บาท ที่นำไปจัดแสดง ในกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model ดังนี้ ผลงานในชุดโครงการบริหารจัดการของเสีย โครงการการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เรื่อง “การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ (ผ้าใยกล้วยบัวหลวง)” โดย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร     คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และผลงานจากชุดโครงการการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี เรื่อง “การพัฒนาวัสดุผสมจากไผ่เหลือทิ้ง” โดย ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์  ทั้งสองชุดโครงการหลักได้รับทุนสนับสนุนจาก สกสว.

นอกจากนี้ ผลงานของนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ยังได้รับ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน  จากการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2563 โดยมีผลงานที่ส่งเข้าประกวด 45 หน่วยงาน 142 ผลงาน ดังนี้ รางวัลเหรียญทอง ประเภทการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลงาน “วัฒนธรรมสีเขียว” โดยนางสาวรวินันท์ ลอยเมฆ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ธงเทพ ศิริโสดา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รางวัลเหรียญเงิน ประเภทการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผลงาน “การพัฒนา Mobile Application บนระบบปฏิบัติการ Android เรื่องศาสตร์และศิลป์การดนตรีไทย” โดยนายน่านฟ้า  เสรี, นางสาวบุษบา  บุญเกิด และนางสาววิลาวัณย์  ม่วงขาว อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์บรรทม น่วมศิริ และดร.สุภาสิรีร์ ปิยะพิพัฒน์ ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ รางวัลเหรียญเงิน ประเภท       การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผลงาน “นวัตกรรมอนุภาคนาโนพอลิเมอร์สองหน้าที่สำหรับสารต้านเชื้อจุลชีพและลดแรงตึงผิวชนิดอนุภาคของน้ำมันหล่อเย็น” โดยนางสาวเนตรนภา กำลังมาก อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.อมร ไชยสัตย์ และ ผศ.ปรียาภรณ์ ไชยสัตย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นวัตกรรมเด่น มทร.ธัญบุรี ช่วยเกษตรกรไทย

ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด เผยว่า มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมผลักดันและยกระดับเอสเอ็มอีของประเทศ โดยยังคงทำงานในบทบาทของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยระยะเวลากว่า 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ดังเช่น โครงการ SME-Turn around, SME-Startup SME-Strong/Regular Level, SME-Online, SME-Cluster และ       Farm-Machinery Cluster ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่บริการวิชาการด้วยนวัตกรรม โดยเข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญกับองค์กรภาครัฐ สถานประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการภาคธุรกิจ เพื่อต่อยอดนวัตกรรม องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปสู่กระบวนการผลิต การบริหารกระบวนการและส่งมอบนวัตกรรมต่อชุมชนสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

ล่าสุด มทร.ธัญบุรี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอี ปี 2563 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการเกษตร จนมีการรวมกลุ่มทั้งหมด 6 คลัสเตอร์ซึ่งกลุ่มต่าง ๆ ต้องการนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อไปใช้ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตผลการเกษตรตลอดจนลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างการพัฒนามีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ตรงกับความต้องการของตลาดใปัจจุบัน โดยมีคณาจารย์จาก มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่สำรวจปัญหา และนำองค์ความรู้ไปช่วยแก้ปัญหาจนประสบผลสำเร็จในเบื้องต้น และพร้อมเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรต่อไป

โดย มทร.ธัญบุรี ได้นำองค์ความรู้ ผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปส่งเสริมแต่ละคลัสเตอร์ เช่น เทคโนโลยีลดความร้อนในโรงเรือนปลูกเมล่อน โดยการใช้ลูกหมุน (คลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร   เมล่อนสุพรรณบุรี) เทคโนโลยี Boom Sprayer (คลัสเตอร์เทคโนโลยีสับปะรดบ้านคา) นวัตกรรมถุงตากแห้งข้าว (คลัสเตอร์เทคโนโลยีข้าวศรีสะเกษ) นวัตกรรมเครื่องสลัดน้ำออกจากผัก (คลัสเตอร์เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์กาฬสินธุ์) นวัตกรรมโรงเรือน Knockdown (คลัสเตอร์เทคโนโลยีเกษตรชัยภูมิ) และเทคโนโลยีการใช้โดรนฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ (คลัสเตอร์เทคโนโลยีมังคุดนครศรีธรรมราช) ซึ่งนวัตกรรม-เทคโนโลยีที่ มทร.ธัญบุรี ไปช่วยส่งเสริมดังกล่าวนับเป็นการแก้ปัญหาที่เป็น Pain Points หลักในกระบวนการผลิตทางการเกษตรของ  แต่ละคลัสเตอร์ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการยกระดับแนวคิดของตนเองและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรของกลุ่มอย่างยั่งยืนต่อไป ผู้สนใจเพิ่มเติมสามารถเข้าดูรายละเอียดที่เว็บไซต์  www.sme-cluster.rmutt.ac.th หรือ โทร. 091 010 5579.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *