“นักบริหารความเสี่ยงทางการเงิน” อาชีพมาแรง เรียนอะไร เรียนที่ไหนดี

สวัสดีน้อง ๆ ทุกคนจ้า หลายคนคงจะสงสัยว่านักบริหารความเสี่ยงการเงิน คืออะไร มีอาชีพนี้อยู่ด้วยหรอ แถมตอนนี้ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้วยนะ สามารถร่วมงานกับต่างประเทศได้ด้วย และเป็นอีกหนึ่งสาขาที่เรียนจบออกมาแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน แถมยังมีค่าตอบแทนดีมาก เพราะเป็นสายงานที่ต้องการความแม่นยำและความเชี่ยวชาญสูงมาก

วิศวกรรมการเงิน แหล่งสร้างอาชีพมาแรง

วิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering) จะเน้นการเรียนรู้ให้น้อง ๆ ได้มีทักษะทางด้านการวิเคราะห์การเงิน การลงทุน และการจัดการความเสี่ยง ตลอดจนมีความสามารถในการใช้เครื่องคำนวณและเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างชำนาญ

 

เกณฑ์คะแนนที่ใช้มีอะไรบ้าง ?

บอกเลยว่าชื่อสาขาอาจไม่คุ้นหู แต่เกณฑ์คะแนนที่ใช้ก็ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับคณะต่าง ๆ รอบแอดมิดชันก็จะมีดังนี้ ส่วนในรอบอื่น ๆ น้อง ๆ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์หลักของมหาวิทยาลัยได้เลยจ้า

  • GPAX
  • O-NET
  • GAT
  • PAT1 (คณิตศาสตร์)
  • PAT2 (วิทยาศาสตร์)

 

เรียนวิศวกรรมการเงินที่ไหนได้บ้าง ?

ในส่วนของสถาบันที่เปิดสอนพี่ก็ได้รวบรวมมาไว้ให้น้อง ๆ ได้ลองมาศึกษากันดู เผื่อจะได้เป็นแนวทางในการตัดสินใจในการเรียนต่อกัน

  1. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมการเงิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • ชั้นปีที่ 1 จะเรียนรู้ในรายวิชาขั้นพื้นฐาน เช่น วิชาแคลคูลัส และสถิติต่าง ๆ ฯลฯ
  • ชั้นปีที่ 2 จะได้เรียนรู้ในรายวิชาที่ลึกลงไป เช่น วิชาคณิตศาสตร์ทางการเงิน และการคำนวณที่ซ้ำซ้อนมากขึ้น ฯลฯ
  • ส่วนในปี 3 จะเรียนรู้ในรายวิชาที่ประยุกต์ทางการเงิน และการมองเห็นภาพรวมว่าจะนำเอาวิชาที่ได้เรียนไปใช้ประโยชน์อย่างไรในการทำงาน
  • ชั้นปีที่ 4 ในเทอมแรกน้อง ๆ จะต้องฝึกงานสหกิจศึกษาตลอด 4 เดือน กับกลุ่มธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร และสายงานประกันต่าง ๆ หลังจากนั้นก็จะต้องศึกษาในวิชาเฉพาะทางอีกด้วย เช่น วิชาตลาดตราสารอนุพันธ์ และวิชาการบริหารจัดการหลักทรัพย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ในหลักสูตรกาเรียนการสอนวิศวกรรมการเงินยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สามารถเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมการเงินของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ในเวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง อีกด้วย

เว็บไซต์ : https://science.utcc.ac.th/

 

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการเงิน (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะเปิดสอนอยู่ภายใต้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ระดับปริญญาโท ซึ่งจะมุ่งเน้นเสริมสร้างทักษะและความสามารถให้ผู้สนใจที่จะพัฒนาตนเองไปยังสายงานด้านการประเมินและการบริหารความเสี่ยง การบริหารงานธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจ รวมถึงการร่วมงานกับองค์กรพัฒนาซอร์ฟแวร์ด้านการเงินต่าง ๆ ทั่วโลก มีระยะเวลาในการเรียน 1 ปี ประกอบด้วยการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์และศาสตร์ด้านการเงิน ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีความรู้รอบและรู้ลึกที่นำไปสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพด้านธุรกิจการเงิน

เว็บไซต์ : https://www.chula.ac.th/course/3703/

 

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการเงินและการจัดการ (FEM) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เปิดสอนในระดับปริญญาโท โดยจะเป็นเป็นหลักสูตรที่เน้นการบูรณาการความรู้ทฤษฎีด้านการเงิน คณิตศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อมุ่งศึกษาคิดวิเคราะห์ และจัดการปัญหาด้านวิศวกรรมการเงิน โดยใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจการเงิน การธนาคารและการประกันภัย ฯลฯ ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากรในปัจจุบัน

เว็บไซต์ : http://www.gmi.kmutt.ac.th/master_program

 

  1. โครงการหลักสูตรร่วม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง + นิด้า KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering

เป็นหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องปริญญาโท (4+1) จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทั้งหมด ระยะเวลาศึกษา 5 ปี หรือ 10 ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • การศึกษาระดับปริญญาตรี ระยะเวลา 4 ปี หรือ 8 ภาคการศึกษา
  • การศึกษาระดับปริญญาโท ระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา

ซึ่งผู้เรียนจะได้ศึกษารายวิชาทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Economic and Finance Theory) วิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ (Methods of Engineering) และเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ (Tools of mathematics) รวมถึง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programming) โดยคณาจารย์จาก สจล. และ นิด้า ร่วมกันสอนตั้งแต่ปีแรก พร้อมยังมีการผนวกหลักสูตรควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ

เว็บไซต์ : http://www.kmitl.ac.th/en

 

โอกาสในการทำงานที่หลากหลาย

น้อง ๆ ที่เรียนจบไปแล้วยังสามารถทำอาชีพอื่นได้อีกด้วย ถ้าหากไม่อยากเป็นนักบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ก็สามารถทำงานในหน่วยงานรัฐ และเอกชนได้เลย แถมสายงานนี้ยังสามารถทำงานกับคนต่างชาติได้สบาย ๆ เลย มาดูกันดีกว่าว่ามีอาชีพอะไรกันบ้าง

  • ทำงานด้านบริหารความเสี่ยง
  • ทำงานด้านนโยบายสินเชื่อ
  • ทำงานด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์
  • ทำงานด้านการลงทุน
  • ทำงานด้านการประกันภัย
  • นักวิจัยภายในหน่วยงานของธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และหน่วยงานของที่ปรึกษาการลงทุน ตลอดจนบริษัทขนาดใหญ่ ฯลฯ

 

การทำงานสายนี้นอกจากจะได้ค่าตอบแทนสูง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่มีความแม่นยำ หากน้อง ๆ คนไหนสนใจและชอบงานลักษณะแบบนี้ พี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยนะจ๊ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Campus-star.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *