บ้านปูฯ เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ครั้งพิเศษ

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน จึงจับมือกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสานต่อการสร้างสรรค์ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพาเวอร์กรีน ในรูปแบบพิเศษขึ้นภายใต้ธีม Jungle Rumble – เสียงก้องจากป่าลึก โดยจัดการแข่งขันตอบคำถามผ่านทางออนไลน์เป็นครั้งแรก สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อคัดเลือกเยาวชน 15 คน ไปทัศนศึกษาด้วยการเดินป่าแบบเจาะลึกที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน พร้อมทั้งสร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

โครงการค่าย “เพาเวอร์กรีน” ภายใต้ธีม “Jungle Rumble – เสียงก้องจากป่าลึก ในปีนี้ เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 ทั่วประเทศ ทุกแผนการเรียนทีมละ 3 คน สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมแข่งขันตอบคำถามผ่านช่องทางออนไลน์รวม รอบ เพื่อวัดพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทำภารกิจสะสมคะแนนผ่านสื่อออนไลน์ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 243 ทีม จากนั้นคัดเลือกผู้ชนะจำนวน ทีม เพื่อไปทัศนศึกษา ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม ที่ผ่านมา รวมเป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน 

เยาวชนทั้ง 15 คน มีโอกาสศึกษาเส้นทางธรรมชาติ สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่าแก่งกระจาน สำรวจและทำความรู้จักพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์รวมทั้งแมลงนานาชนิด เรียนรู้วิธีดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยในป่า การแกะรอยสัตว์ป่า และวิธีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพเพื่อสำรวจพฤติกรรม และจำนวนประชากรสัตว์ป่า กิจกรรมดูนก ณ แหล่งชมนกที่ดีที่สุดในประเทศไทย พร้อมทั้งกิจกรรมเรียนรู้ดาราศาสตร์และสังเกตท้องฟ้ายามค่ำคืน  

นอกจากนี้ เยาวชนยังได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสา (CSR) เรียนรู้การทำโป่งเทียม ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับสัตว์ป่า เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง รวมทั้งนก และแมลงนานาชนิด กิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารให้สัตว์ป่าแล้ว ยังป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกไปหาอาหารในพื้นที่ชุมชน และลดความขัดแย้งกับชาวบ้านได้อีกด้วย

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันเด็ก ๆ มีความรู้ด้านต่าง ๆ ไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่ จากข้อมูลในโลกออนไลน์ที่เข้าถึงได้อยู่ตลอดเวลา แต่มันคงจะดีกว่าถ้าพวกเขาได้มีโอกาสมาออกมาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งจะทำให้พวกเขาเข้าใจ และจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ออกมาใช้ชีวิตใกล้ชิดและเห็นความงดงามของธรรมชาติ จะทำให้พวกเขาเห็นถึงคุณค่า มีความรู้สึกรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการอาสาทำหน้าที่นักอนุรักษ์ ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มจากตนเองก่อน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล รวมถึงการเป็นกระบอกเสียงในการส่งต่อความรู้ที่ได้รับจากค่ายฯ ให้คนรอบข้างได้ตระหนักถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงกันของความหลากหลายทางชีวภาพกับมนุษย์ ซึ่งพลังที่ส่งต่อกันนี้ย่อมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนที่มีต่อความรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้  คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”

ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิทยบริการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เราคัดเลือกกลุ่มที่มีความสนใจและให้ความสำคัญกับธรรมชาติจริง ๆ ดังนั้น ผลกระทบที่ได้จากโครงการจะเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ซึ่งเริ่มต้นจากบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรู้และแรงบันดาลในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมนำไปถ่ายทอดต่อให้คนรอบข้างได้รับรู้ เพื่อโน้มน้าวผู้ฟังเกิดแพสชั่นเดียวกัน เกิดเป็นเครือข่ายในการอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง ที่มีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมกันสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบวกอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นความคาดหวังสูงสุดของค่ายฯ”

ตัวแทนเยาวชนที่มีโอกาสไปร่วมค่ายฯ ต่างก็ได้รับความรู้ใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมตัวจริง รวมถึงได้รับประสบการณ์สนุก ๆ ที่น่าจดจำมากมาย ซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับรู้ เริ่มจาก บิ๊กวรากร เติมสายทอง เล่าว่า “พวกเราเป็นเยาวชนก็จริง แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่พวกเราสามารถเริ่มต้นอนุรักษ์ได้ ส่วนตัวชื่นชอบการทำกิจกรรมอยู่แล้ว และสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ เพราะผมมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว การตัดสินใจมาค่ายในครั้งนี้เพราะอยากสัมผัสประสบการณ์การเดินป่าอีกรูปแบบที่หาไม่ได้จากในเมือง เพื่อที่จะเอาไปบอกต่อกับคนอื่นว่าป่ามีความสำคัญกับชีวิตเราตั้งแต่ตอนตื่นไปจนถึงตอนนอน เราใช้น้ำเพื่อกิน เราใช้อากาศเพื่อหายใจ ไม่เพียงเท่านั้นนะครับ พืชและสัตว์บางชนิดที่นับวันจะลดน้อยลง ถ้าเราช่วยกันอนุรักษ์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เรามีธรรมชาติให้พึ่งพาต่อไปครับ”

เอี๊ยมวรัญญา หม้อนนทา ให้ความเห็นว่า “หนูชื่นชอบด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้วค่ะ พยายามหาโอกาสที่จะเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว กิจกรรมที่หนูรู้สึกประทับใจในค่ายนี้ คือ การตรวจวัดคุณภาพน้ำจากการสำรวจแมลงตัวเล็ก ๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กลับทำให้ได้รู้ว่าน้ำบริเวณนั้น ๆ สะอาดมากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวกลับบ้านไปจะลองใช้วิธีที่ได้เรียนจากค่ายฯ ไปสำรวจน้ำตกข้างบ้านบ้าง และอีกกิจกรรมที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือ การส่องนก เพราะได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติ และได้เห็นนกเงือก ซึ่งถือเป็นนกหายาก ที่อาศัยอยู่ในป่าแบบตัวเป็น ๆ อีกด้วย เป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก”

ปิดท้ายที่เก้าเกล้าภูมิ เจริญศิริ ที่บอกว่า “ค่ายเพาเวอร์กรีนได้เปิดประสบการณ์และให้ความรู้ที่ดีมากครับ อาจด้วยจำนวนคนที่ไม่มากทำให้ทุกคนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ โดยส่วนตัวแล้วชื่นชอบและสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากที่คุณพ่อเป็นคนชอบเดินป่า และมักจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับป่าให้ฟังเสมอ ทำให้ผมสนใจในเรื่องนี้มาก ผมชอบศึกษาสัตว์ว่ามันมีลักษณะอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน การเดินป่าในครั้งนี้ก็เช่นกันครับ ทำให้ผมได้มองเห็นธรรมชาติแบบใกล้ชิด มีต้นไม้หลายชนิดที่พบเห็นได้ยาก ส่วนใหญ่อายุมากกว่าผมหลายสิบปีเลยครับ ซึ่งใช้ระยะเวลานานมากกว่าจะต้นใหญ่ได้ขนาดนี้ เราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าป่ายังมีอะไรมากมายให้เราได้เรียนรู้ครับ”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *