มาดู 10 ประเด็นเรียนรู้สำคัญของวงการศึกษาในปี 2020

ในปี 2563 ที่เพิ่งจบสิ้นไปในไม่กี่วันนี้ นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เราต่างต้องปรับตัวครั้งสำคัญ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อยืนยันความเชื่อในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมท่ามกลางวิกฤติหรือในช่วงเวลาปกติให้ได้ ทางเว็บไซต์ Edutopia ได้รวมรวมบทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2020  ที่ศูนย์วิจัยฯ นำมาเสนอดังนี้

 

1.เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ให้ได้ผลดีด้วยการให้เด็ก ๆ เป็นตัวแสดงแทน

จากการศึกษาเกี่ยวกับการจดจำคำศัพท์ในการเรียนภาษากับนักเรียนอายุ 8 ขวบ นักวิจัยขอให้เด็ก ๆ แสดงท่าทางเกี่ยวกับคำศัพท์ใหม่ เช่น ทำมือเป็นเครื่องบินเมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคำนั้น โดยเมื่อผ่านไปหลายเดือนก็พบว่านักเรียนสามารถเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ได้ดีขึ้นกว่า 2 เท่ามากกว่าการฟังหรือท่องจำอย่างเดียว

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าการดูภาพขณะฟังคำศัพท์ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน แต่ได้ผลน้อยกว่าการให้เด็ก ๆ ได้แสดงท่าทางเกี่ยวกับคำศัพท์เหล่านั้น อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณครูได้กระตุ้นการเรียนรู้คำศัพท์ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น วาดภาพเกี่ยวกับคำศัพท์นั้น หรือการจับคู่รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

2.การเขียนด้วยมือสร้างการเรียนรู้ได้ดีกว่า

จากการวิจัยในอดีตได้มีการศึกษาแล้วว่าทักษะการอ่านจะพัฒนาได้ดีเมื่อเด็ก ๆ ฝึกเขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองมากกว่าพิมพ์แล้วปริ้นท์ออกมาอ่าน ซึ่งยืนยันด้วยงานวิจัยในปี 2020 ที่นักวิทยาศาสตร์ทางสมองได้ทำการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียนเกรด 7 (มัธยมศึกษาปีที่ 1) ด้วยการทดสอบทางสมองขณะที่เด็ก ๆ กำลังเขียน วาดรูป และพิมพ์บนแป้นพิมพ์ พบว่าสมองของนักเรียนมีการส่งสัญญาณประสาทที่บ่งชี้ึการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งขณะทำการเขียนและการวาดภาพ

ซึ่งนักวิจัยก็ได้เพิ่มเติมว่าการได้เคลื่อนไหวมือผ่านการวาดหรือเขียนจะกระตุ้นการรับรู้ของสมองได้ดีกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษะทางเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนเช่นกัน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือด้านการเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการสะกดคำ (dyslexia) ที่ทำให้เขาเรียนรู้ได้ดีกว่าด้วย

 

3.คะแนนสูงกลับแปรผันทางลบต่อการความสำเร็จการศึกษา

จากการศึกษาผลการทดสอบ ACT ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการรับเข้ามหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับการทดสอบ SAT นั้น พบว่านักเรียนที่มีผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกณฑ์สูงกลับมีความสามารถในการฝ่าฝันความยากลำบากในการเรียนมหาวิทยาลัยได้ต่ำกว่า ขณะที่ผลการเรียนในระดับมัธยมปลายกลับเป็นตัวแปรที่ชี้ความสำเร็จของนักเรียนได้มากกว่า นั่นเพราะบ่งบอกถึงทักษะการกำกับตนเองและจัดการเวลาในการเรียนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนมหาวิทยาลัย

หากมองย้อนมายังกรณีของประเทศไทย ก็พูดได้ยากว่าผลการเรียนตอนเรียนมัธยมจะเป็นสิ่งบ่งชี้ความสามารถในการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ดีกว่าหรือไม่ เพราะเรายังคงมีคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการให้เกรดที่ยังไม่เป็นมาตรฐานระหว่างโรงเรียนต่างขนาดและต่างพื้นที่ด้วยเช่นกัน

 

4.วางเกณฑ์การประเมินแบบรูบริก (rubric) ช่วยให้ครูลดอคติที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าเมื่อครูมีเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินที่ชัดเจนและตั้งมั่นอยู่กับเกณฑ์มาตรฐานนั้น จะทำให้การพิจารณาคะแนนเที่ยงธรรมมากขึ้น โดยจากการศึกษา คุณครูกว่า 1,500 คนในการประเมินงานเขียนของนักเรียนเกรด 2 (ประมาณประถมศึกษาปีที่ 2) พบว่าคุณครูมักให้คะแนนนักเรียนที่มีชื่อว่า Connor ง่ายกว่านักเรียนคนอื่น ๆ โดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อคุณครูมีเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น การระบุว่านักเรียนมีการเขียนบรรยายได้ครบถ้วนชัดเจน ก็ทำให้เกิดมาตรฐานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าการประเมินอาจเป็นเรื่องที่คุณครูทำโดยเคยชินจนรู้สึกว่ามีแค่เกณฑ์หลวม ๆ ก็ได้ แต่หากว่าหลายครั้ง “ชื่อ” ของนักเรียนก็อาจส่งผลต่อการประเมินได้เช่นกัน มันคงจะดีขึ้นมากหากคุณครูเสียเวลาขึ้นสักนิดในการระบุเกณฑ์ที่ชัดเจนและสมเหตุสมผลเพื่อให้คะแนนสามารถเกณฑ์มาตรฐานในการสะท้อนผลการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนได้

 

5.เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินปิดตัวลงกลับส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างไม่น่าเชื่อ

การตีพิมพ์ผลการศึกษาในปี 2020 เกี่ยวกับผลของการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่เมืองชิคาโกต่ออัตราการขาดเรียนของนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับอาการหอบหืด พบว่านักเรียนมีอัตราการมาเรียนเพิ่มมากขึ้น การศึกษานี้เป็นภาพสะท้อนสำคัญว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ อัตราอาชญากรรมในพื้นที่ แม้กระทั่งมลภาวะทางเสียง เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อความพร้อมและคุณภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีเด็กกว่า 2.3 ล้านที่เข้าเรียนในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิน 10 กิโลเมตร และมันหมายถึงค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในอนาคต

ความเท่าเทียมทางการศึกษาจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่รั้วโรงเรียน หากแต่ช่องว่างแห่งความสำเร็จในชีวิตเป็นสิ่งที่อยู่ในช่องว่างแห่งความเท่าเทียมที่หยั่งรากลึกในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิต ดังนั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทลายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยไม่เผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมในเมือง เขตพื้นที่อยู่อาศัยของเรา ตลอดจนที่หลังบ้านของเราเอง

 

6.นักเรียนที่ตั้งคำถามที่ดี คือผู้ที่เรียนรู้ได้ดียิ่งกว่า

จากการศึกษาเกี่ยวกับการจดจำการเรียนรู้ในระยะยาวของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยการให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทเรียน การทดสอบย่อยหลังบทเรียน และการเรียนทบทวน พบว่าการสรุปการเรียนรู้โดยการฝึกให้ผู้เรียนตั้งคำถามจากบทเรียนแล้วผู้สอนชี้ประเด็นให้เกิดการตั้งคำถามเพิ่มเติมจนครอบคลุมนั้น ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลการสอบปลายภาคดีกว่าการเรียนทบทวนกว่าร้อยละ 13 และแม้ว่าผู้เรียนที่สรุปการเรียนด้วยการตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเองจะมีผลสอบปลายภาคในข้อที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนไม่ต่างกับกลุ่มที่ใช้การทดสอบย่อยท้ายบทมากนัก แต่กลับมีผลการเรียนรู้ที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดในข้อคำถามประเภทประยุกต์ใช้

จากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าการเรียนทบทวน โดยเฉพาะการเน้นคำ ขีดเส้นใต้คำสำคัญนั้นไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตของนักเรียนอีกต่อไปแล้ว แต่การฝึกให้นักเรียนเป็นผู้ตั้งคำถามอย่างรอบด้านและเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งก็เป็นทักษะที่คุณครูสามารถช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีความหมายและยิ่งยืนได้มากกว่า

 

7.อ่านเยอะแค่ไหนก็ไม่ได้ส่งผลต่อการอ่านออกเขียนได้ ถ้าไม่ได้อ่านอย่างเข้าใจ

การศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรการสอนเพื่อการอ่านออกเขียนได้ในปี 2020 เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่สั่นสะเทือนความเชื่อเดิมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อการรู้หนังสือ หรือการอ่านออกเขียนได้ที่มีมากว่า 40 ของสหรัฐอเมริกาที่มีเทคนิคการสอนที่เน้นการอ่านบทความจำนวนมากและอ่านออกเสียงเพื่อให้เรียนรู้คำและเขียนคำได้ แท้ที่จริงกลับทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้คำโดยไม่เข้าใจและนำไปใช้ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งจดจำในการเขียนไม่ได้ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้ได้พบแง่มุมที่จะช่วยพัฒนาการรู้หนังสือให้อ่านออก เขียนได้ และเข้าใจ ด้วยการเรียนรู้ผ่านการอ่านร่วมกับสื่ออื่น ๆ เช่น ภาพประกอบ หรือเหตุการณ์ที่สร้างความเข้าใจในคำศัพท์ใหม่ ๆ ในบทเรียนนั้นมากกว่าเป็นแค่การอ่านออกเสียงหรือท่องจำอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถอ่านได้อย่างเข้าใจบริบท จดจำคำศัพท์และเขียนได้ด้วยความเข้าใจนั่นเอง

 

8.สร้างห้องเรียนเสมือนให้มีประสิทธิภาพด้วยการจัดระเบียบช่องทางการสื่อสาร

ในปี 2020 ที่ทั่วโลกเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเรียนรู้ให้ดำเนินต่อไปได้ภายใต้ภาวะวิกฤติเช่นนี้ โดยจากรายงานการศึกษาโดยมหาวิทยาลัย Georgia State ได้ชี้ประเด็นปัญหาสำคัญในการเรียนรู้ในห้องเรียนเสมือนนี้ที่ไม่ใช่แค่ว่านักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไหม แต่ระบบการจัดการเรียนรู้ทำให้เขาเข้าถึงบทเรียนได้แค่ไหน การจัดการช่องทางการสื่อสารและเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายและชัดเจนเป็นประเด็นที่จะช่วยให้การเรียนรู้ทางไกลของนักเรียนง่ายขึ้น

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวได้นำเสนอว่าบทเรียนที่ดีนั้นมี 4 องค์ประกอบ คือ 1) มีคำอธิบายชัดเจนและอ่านง่าย โดยไม่ควรตกแต่งเอกสารเกินความจำเป็น 2) มีช่องทางให้นักเรียนได้รับข้อเสนอแนะจากครูหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน 3) ใช้เกมหรือสถานการณ์จำลองเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนอยู่เสมอ และ 4) มีช่องทางการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย เอกสารมีที่อยู่ถาวร และสามารถสนับสนุนนักเรียนที่ประสบปัญหาทางเทคนิคได้

 

 9.การเรียน coding เกี่ยวข้องกับทักษะทางภาษามากกว่าคณิตศาสตร์

ความเชื่อดั้งเดิมว่าการเรียนรู้การเขียนคำสั่งโปรแกรมหรือ coding นั้นต้องใช้ทักษะทางการคำนวณเป็นหลัก แต่การศึกษาในปี 2020 กำลังท้าทายชุดความเชื่อนั้นโดยการทดลองกับบุคคลทั่วไปในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 36 คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมมาอบรมการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา Python เป็นเวลา 10 ครั้ง ครั้งละ 45 นาที

ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่เรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นไม่ใช่ผู้ที่มีทักษะทางคณิตศาสตร์สูง แต่กลับเป็นผู้ที่มีทักษะทางภาษาที่เรียนรู้การ coding ได้ดีกว่าถึง 9 เท่าตัว การศึกษานี้ยังมีการกล่าวถึงข้อบังคับในการเรียนคณิตศาสตร์ขั้นสูงเพื่อผ่านเกณฑ์สำหรับการศึกษาการเขียนโปรแกรมด้วยว่าแทบไม่มีความจำเป็นในการใช้บทเรียนเหล่านั้นในการเขียนโปรแกรมเลย ดังนั้นจึงอาจถึงเวลาที่จะเกิดการทบทวนเกี่ยวกับเกณฑ์บังคับเหล่านี้เสียใหม่

 

10.สอนอ่านเพื่อจับใจความสำคัญเพิ่มทักษะด้านการอ่านได้ไม่เท่าการอ่านในวิชาสังคมศึกษา

การเรียนภาษาเพื่อความเข้าใจเนื้อหาด้วยการค้นหาประเด็นใจความสำคัญแล้วสรุปความอาจเป็นความพยายามที่ต้องทุ่มเทเวลาไปอย่างไม่คุ้มค่าอีกต่อไป เมื่องานวิจัยในปี 2020 ที่ศึกษาด้านการอ่านกับนักเรียนกว่า 18,000 คน ตั้งแต่เริ่มเรียนระดับอนุบาลจนกระทั่งประถมศึกษาปีที่ 5 การศึกษาระยะยาวนี้ค้นพบว่าแม้ว่านักเรียนส่วนใหญ่จะใช้เวลาเรียนภาษาในโรงเรียนมากกว่าวิชาสังคมศึกษา แต่การอ่านในวิชาสังคมศึกษากลับส่งผลดีด้านการพัฒนาทักษะด้านการอ่านจับประเด็นมากกว่าการเรียนภาษาด้านการอ่านโดยตรง

ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้อ่านบทความเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ หรือกฎหมาย (ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา) นั้นเป็นกลวิธีส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อ่านก็จะมีโอกาสที่จะอ่านจับใจความได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการดึงข้อมูลจากความทรงจำระยะยาวซึ่งทำให้เขามีพื้นที่ความทรงจำที่มากขึ้นในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจและจับใจความได้ดียิ่งขึ้น

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

– https://www.facebook.com/ESDCenterEduChula/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *