อยากเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ต้องทำอย่างไร ?

เส้นทางสู่การเป็น…วิศวกร

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้พี่จะพามาดูแนวทางสู่อาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมากไม่แพ้อาชีพหมอเลย นั่นก็คืออาชีพ “วิศวกร”  พี่นี่นึกถึงเสื้อช็อปเท่ ๆ เลยค่ะ กรี๊ดเลยใช่ไหมคะ นับว่าเป็นคณะที่น้อง ๆ หลายคนต้องชื่นชอบกันเลย นอกจากจะเท่แล้ว ยังเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงและตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบันอีกด้วย ทั้งในทางอุตสาหกรรม คมนาคม อสังหาริมทรัพย์ การผลิตและควบคุม สาธารณูปโภค และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่าเป็นสายงานที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และแน่นอนว่าเรียนมาได้ใช้ความรู้อย่างเต็มที่แน่นอน ซึ่งก่อนที่จะเป็นวิศวกรนั้น อย่างที่รู้กันดีว่าน้อง ๆ ต้องผ่านด่านการศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์เสียก่อน และคณะวิศวกรรมนั้นก็จะมีสาขาย่อยออกไปอีกหลายสาขา เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมการเงิน วิศวกรรมเหมืองแร่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละสาขาก็ศึกษาเฉพาะทางที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวันนี้พี่จะพาน้อง ๆ ที่มีความฝันอยากเข้าคณะนี้ มาดูกันว่าในการสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องเตรียมตัวอย่างไร และใช้คะแนนอะไรบ้าง ไปดูเลยค่า

 

สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใช้คะแนนอะไรบ้าง ?

  • 9 วิชาสามัญ โดยการการสอบคัดเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์จะใช้ 7 วิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ 1 และสังคมศึกษา
  • O-NET ตามระเบียบจะต้องสอบทั้ง 5 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา
  • GAT/PAT ซึ่งตามระเบียบจะต้องสอบ GAT, PAT1, PAT2, PAT3

GAT คือการสอบวัดความถนัดทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

– ส่วนที่ 1 GAT เชื่อมโยง การอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง ภาษาไทย

– ส่วนที่ 2 GAT อังกฤษ ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

PAT1 คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางคณิตศาสตร์

PAT2 คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางวิทยาศาสตร์

PAT3 คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์

ข้อสอบวัดความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ข้อสอบวัดความรู้พื้นฐาน โดยจะทดสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์) และเทคโนโลยี
  2. ข้อสอบวัดความพร้อม ซึ่งเป็นข้อสอบที่วัดความพร้อมทางการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ โดยจะทดสอบเรื่องการเขียนแบบด้านวิศวกรรม การคิดแบบวิศวกร การดูรูปทรง และความรู้ด้านเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกร
  • GPA/GPAX

GPA คือ เกรดเฉลี่ยแต่ละรายวิชา หรือเกรดเฉลี่ยผลการเรียนของเทอมใดเทอมหนึ่ง

GPAX คือ เกรดเฉลี่ยสะสม ส่วนมากการสมัครคัดเลือกเข้าระดับอุดมศึกษาจะใช้เกรดเฉลี่ยสะสม 5-6 เทอม

  • Portfolio คือ แฟ้มสะสมผลงาน ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การการแข่งขันทักษะต่าง ๆ ทั้งทางวิชาการและกีฬา ความสามารถพิเศษ การทำกิจกรรมจิตอาสา และประวัติข้อมูลของน้อง ๆ

 

การสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์มีทั้งหมดกี่รอบ ?

การสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้น แบ่งเป็น 4 รอบ ได้แก่

รอบที่ 1 Portfolio ในการรับตรงรอบพอร์ตนี้ จะมีการพิจารณาจากเกรดของเรา และแฟ้มสะสมผลงานเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวเรามากที่สุด และในแฟ้มสะสมผลงานนั้นควรมีผลงาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทักษะวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นจุดที่ทำให้คณะกรรมการเห็นถึงความสามารถของเรา เพราะฉะนั้นหากน้อง ๆ คนไหนที่รู้ตัวว่าอยากเรียนในคณะหรือสาขาใด ควรที่จะร่วมกิจกรรม หรือสร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นเยอะ ๆ นะคะ

รอบที่ 2 โควตา ในรอบนี้จะเป็นรอบที่เหมาะสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียนใกล้บ้าน ซึ่งรอบโควตาเป็นรอบที่ทางมหาวิทยาลัยจะกำหนดคุณสมบัติพิเศษของผู้สมัครคือเป็นบุคคลในพื้นที่หรือโรงเรียนในเครือข่าย ซึ่งรอบนี้จะใช้คะแนน 9 วิชาสามัญ ซึ่งเลือกสอบ 7 วิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ 1 และสังคมศึกษา และแต่ละมหาวิทยาลัยมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนที่แตกต่างกัน

รอบที่ 3 แอดมิชชั่น ในระบบ TCAS64 จะเป็นการรวมรอบ Admission1 และ Admission2 ร่วมกัน ซึ่งการตัดสินในรอบนี้จะใช้คะแนน เกรดเฉลี่ย, O-NET, GAT/PAT (PAT1, PAT2, PAT3) ซึ่งในรอบแอดมิชชั่นในปีนี้สามารถเลือกอันดับได้ถึง 10 อันดับกันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นรอบที่เพิ่มโอกาสให้กับน้อง ๆ แต่ว่าน้อง ๆ ต้องคำนวณคะแนนดี ๆ เพื่อที่จะไม่พลาดอันดับที่เราหวังไว้น้า

รอบที่ 4 รับตรงอิสระ เป็นรอบสำหรับผู้ที่ยังไม่มีสิทธิ์รับเข้าศึกษา และยังไม่ยืนยันสิทธิ์ในรอบก่อนหน้า ซึ่งรอบรับตรงอิสระเป็นรอบที่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยล้วน ๆ เพราะรอบนี้จะมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนการคัดเลือกที่แตกต่างกัน บางที่อาจจะไม่ใช้คะแนน บางที่อาจจะต้องสอบข้อสอบที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น หรือบางที่อาจจะใช้แค่คะแนน 9 สามัญอย่างเดียว เป็นต้น เพราะฉะนั้นก่อนการสมัครน้อง ๆ จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดมาอย่างละเอียดนะคะ

 

การเตรียมตัวสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียนวิศวะ

สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียนวิศวะ ต้องทำอะไร เตรียมตัวอย่างไรกันบ้างนะ วันนี้พี่ ๆ มีคำแนะนำมาบอกค่า

  • ทำความเข้าใจกับสาขาที่อยากเรียนอย่างละเอียด ทั้งการเรียนและการปฏิบัติ
  • น้อง ๆ ควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับรายวิชาที่ต้องสอบอย่างรอบคอบ
  • น้อง ๆ ควรให้เวลากับการเตรียมตัวในการสอบเยอะ ๆ
  • การแบ่งเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นควรจัดสรรเวลาให้ดี
  • ขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากอาจารย์ รุ่นพี่ หรือผู้ที่เรียนโดยตรง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัว
  • ตั้งเป้าหมายคะแนนของเราให้ชัดเจน หมั่นทำโจทย์ และคำนวณคะแนนจริง
  • หาข้อสอบเก่า ๆ มาทำ จะช่วยให้เราได้รู้แนวข้อสอบ และสามารถเก็งข้อสอบได้
  • หากถนัดวิชาใด ให้เน้นการทำคะแนนในวิชานั้นให้ได้มากที่สุด
  • ศึกษาคะแนนที่ใช้ของแต่ละสนามสอบอย่างละเอียด ว่าใช้คะแนนเท่าไหร่ และเตรียมตัวดี ๆ
  • ตั้งใจเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หมั่นทบทวนและสรุปความรู้ที่เรียนอย่างสม่ำเสมอ
  • ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม การคิดเป็นเหตุเป็นผล

 

วิศวกรขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพที่ท้าทายมาก ๆ เลย แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่านั้นก็คือการสอบเข้าใช่ไหมล่ะคะ พี่หวังว่าน้อง ๆ จะได้รับความรู้ที่ทาง Eduzones ได้นำมาแบ่งปันในวันนี้ และนำคำแนะนำต่าง ๆ นี้ ไปใช้ในการเตรียมตัวสอบ และพี่ ๆ ทีมงานเอ็ดดูโซน ขอเป็นกำลังใจให้กับน้อง ๆ ทุกคน หมั่นทบทวนบทเรียนและฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เต็มที่กับทุกสนามสอบ และที่สำคัญเลย ในช่วงนี้ต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ฟิตอยู่เสมอนะคะ อย่าลืมติดตามข้อมูลการรับสมัครอยู่เสมอ หากน้อง ๆ ไม่อยากพลาดข่าวสารดี ๆ เกี่ยวกับข่าวรับตรง โควตาต่าง ๆ ต้องกดติดตาม Eduzones และน้อง ๆ คนไหนยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเหมาะกับวิศวะสาขาใด สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวิศวะแต่ละสาขาได้ที่ี่ คลิก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *